วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562

โชคอนันต์ไฮโดรโปนิกส์ | ฟาร์มผักไร้ดินของไทย ที่โตไกลไปถึงต่างประเทศ


โชคอนันต์ไฮโดรโปนิกส์ เป็นฟาร์มที่ทำการปลูกพืชไร้ดิน (Soilless Culture) ซึ่งทำทั้งสองแบบคือ การปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics: การปลูกพืชในน้ำหรือในสารละลายธาตุอาหาร) และการปลูกบนซับสเตรต (Substrate Culture: การปลูกพืชลงบนวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ดิน)

ฟาร์มเริ่มจากการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ก่อน โดยการศึกษาหาความรู้จากต่างประเทศ และฟาร์มที่เคยปลูกมาก่อนหน้านี้ เข้าไปเรียนรู้ทั้งฟาร์มปิดและเปิดที่อนุญาตให้เข้าไปศึกษาได้ และองค์ความรู้จากองค์กรภาครัฐต่าง ๆ เช่น เกษตรจังหวัด เป็นต้น

โรงเรือนแห่งแรกคือโรงเรือนผักไฮโดร ใช้เงินลงทุนกว่า 5 ล้านบาท  (โรงเรือนแบบกอไก่) โรงเรือนมีประตูสองชั้น รอบข้างมุงด้วยวัสดุคล้ายตาข่าย ที่มีอายุการใช้งานประมาณ 4-5 ปี และด้านบนโรงเรือนมีแสลนกันแดด และมีท่อสำหรับฉีดละอองน้ำเพื่อปรับอุณหภูมิในโรงเรือนอีกด้วย พร้อมทั้งมีพัดลมในการระบายอากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันแมลงและการระบาดของโรค

ซึ่งฟาร์มเน้นการปลูกผักใบของไทย ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง คึ่นช่าย เป็นต้น ซึ่งโรงเรือนเป็นโรงเรือนแบบ กอไก่ หน้ากว้าง 8 เมตร ลึก 50 เมตร โดยประยุกต์โครงสร้างโรงเรือนมาจากประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นต้นแบบเรื่องการปลูกผักไร้ดิน ซึ่งเดิมเทคโนโลยีต้นแบบนั้นใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมด เช่น การปรับแสง การเติมสารเคมี เป็นต้น แต่คุณวงศ์อนันต์เจ้าของฟาร์มดัดแปลงระบบต่าง ๆ เหล่านั้นมาใช้แรงงานคนเนื่องจากต้นทุกที่น้อยกว่ามาก และจัดการได้ง่ายกว่า

ทำไมเน้นการปลูกผักใบ: เนื่องจากตลาดนิยมมากกว่า และมีระยะเวลาในการปลูกที่สั้นกว่าผักผลเช่น มะเขือเทศ ซึ่งระยะเวลาในการปลูกถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง การที่เราสามารถหมุนเวียนพืชที่ปลูกได้เร็ว ก็ทำให้เรามีค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น

ตามมาตรฐาน GAP ฟาร์มสามารถใช้สารเคมีได้ แต่ต้องเว้นระยะปลอดสารเคมีก่อนเวลาเก็บเกี่ยว ซึ่งพืชแต่ละชนิดจะมีระยะเวลาปลอดสารเคมีไม่เท่ากัน ซึ่งทางฟาร์มก็ป้องกันโดยการเว้นระยะปลอดสารให้มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อป้องกันการตีกลับของสินค้า หากตรวจเจอสารเคมีตกค้างมากกว่ามาตรฐาน

การปลูกเริ่มจากการเพาะเมล็ดในฟองน้ำสำเร็จรูปจากโรงงาน แล้วปลูกในที่มืดซึ่งเมล็ดจะเริ่มงอก แล้วเริ่มพาไปอนุบาล เมื่อพืชเริ่มโตจนสามารถแยกเป็นต้นได้ ก็จะแยกลงแปลงปลูกจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว

ปัญหาในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์คือ เรื่องโรคระบาด หรือแมลงต่าง ๆ ที่ต้องใช้วิธีการจัดการที่ต่างกันออกไป ซึ่งผู้ปลูกต้องศึกษาว่ายาฆ่าแมลงชนิดใดที่สามาถใช้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ในประเทศปลายทาง โดยมาตรฐานที่โรงงานยึดถือ คือ Global GAP (ศึกษาได้ที่: Global G.A.P.) ซึ่งหากต้องการขายผักในต่างประเทศนั้นดูเหมือนมาตรฐาน GAP ไทยจะไม่พอ ไม่สามารถเอาไปฟาดฟันในตลาดต่างประเทศได้ จึงต้องใช้มาตรฐานที่เป็นสากลคือ Global GAP ที่เอาไปคุยธุรกิจได้ทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเข้าตรวจขอมาตรฐานในหลักแสนบาทต่อปี (ต้นทุนอีกเช่นกัน)

ซึ่งคุณวงศ์อนันต์ก็มีวิธีลดต้นทุนเมื่อต้องการขยายแปลงปลูกได้แก่ การหาวัสดุทดแทน หรือการหาวัสดุใหม่ ๆ มาทดแทนวัสดุแบบเดิมที่มีต้นทุนแพงกว่า ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของโรงเรือน เพื่อสามารถใช้วัสดุสำเร็จรูปที่มีราคาถูกกว่าได้

ต่อมา คือการปลูกพืชลงบนวัสดุทดแทน หรือการปลูกบนซับสเตรต ซึ่งทางฟาร์มให้วัสดุคือขุยมะพร้าวซึ่งเป็นวัสดุที่มีมากในจังหวัดสมุทรสงคราม และกากน้ำตาล ซึ่งเป็นบายโพรดักส์ (Byproduct) ผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล นำมาผสมกันในสัดส่วน 50:50 โดยทางฟาร์มเคยทดลองลดสัดส่วนของกากน้ำตาลลงเพื่อลดต้นทุน ปรากฎว่าไม่สามารถปลูกได้ เนื่องจากขุยน้ำตาลที่มีสัดส่วนมากกว่านั้นอมน้ำมากเกินไป จนทำให้พืชตาย (อย่าไปลองนะครับ)

การปลูกพืชแบบซับสเตรตนี้ มีข้อดีคือ ใช้ต้นทุนที่น้อยกว่าการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ แต่ต้องแลกมาด้วยการใช้แรงงานคนที่มากกว่า และต้องใช้เวลาในการพักแปลงปลูก ส่งผลให้ไม่สามารถปลูกพืชได้เร็วเท่าการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์

สุดท้ายนี้ ก่อนที่คุณวงศ์อนันต์จากทำการปลูกพืชไร้ดินกลายมาเป็นฟาร์มที่ส่งออกไปยังยุโรปทุกวันนี้ สิ่งที่คุณวงศ์อนันต์ทำก่อนการลงทุนปลูกคือ การหาความรู้และการตลาด หาเครือข่าย หาพันธมิตรในการส่งออก และก้าวต่อไปของฟาร์มโชคอนันต์คือ การที่เขาจะกลายเป็นผู้ส่งออกด้วยตนเองไม่ผ่านคนกลาง

เอาล่ะ ใครอยากปลูกผักไร้ดิน ก็เริ่มทดลองปลูกได้เลย เพราะตอนนี้องค์ความรู้หาได้ง่าย อีกทั้งตลาดของผักกลุ่มนี้ยังกว้าง ปลูกเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย ... และที่สำคัญต้องคำนึงถึงมาตรฐานในการปลูกด้วยนะครับ หากต้องการส่งออกไปยังต่างประเทศ

ข่าวของฟาร์มโชคอนันต์
สุดท้ายนี้ขอบคุณคณะผู้จัดจากศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล ม.อ.ปัตตานี ที่ได้พาคณะไปเรียนรู้สิ่งดีดีและเปิดโลกธุรกิจทางการเกษตรครับ








ไม่มีความคิดเห็น: