วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561

3 วันดี 4 วันเศร้า กับพี่ทราย เจริญปุระ


คนทั่วไปรู้จักพี่ทรายแบบไหน ผมก็น่าจะรู้จักพี่ทรายแบบนั้น พี่ทรายในภาพจำของผมเป็นนางเอกภาพยนตร์เรื่องนางนาก (ปี 2542) และรับบทเป็นดาราตามช่องต่าง ๆ บ้าง ที่รับรู้ต่อมาคือ เป็นคนติสต์ ไม่เหมือนดารานักแสดงคนอื่น ๆ ต่อมาคือ ประสบอุบัติเหตุ "คอหัก" ตอนที่เราได้ยินข่าวก็ตกใจ คนปกติคอหักคงไม่อยู่แล้ว แต่พี่ทรายยังรอดมาได้นี่โคตรดวงแข็งเลย สุดท้ายคือ พี่ทรายเป็นโรคซึมเศร้า

เฮ้ย! คนแบบพี่ทราย อินทิรา เจริญปุระ เนี่ยนะ เป็นโรคซึมเศร้า มันขัดกับภาพในหัวของเรามาก ว่า พี่ทรายเป็นคนเข้มแข็ง เป็นพี่คนโต ทำงานตั้งแต่เด็ก เราจึงคิดว่านางน่าจะแข็งแกร่งยืนหยัดต่อสู้กับสังคมได้สบาย ๆ ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์อะไรพี่ทรายจะกลับมาเป็นคนเดิม เป็นนางนากที่เฮี้ยนหลอกคนไปทั่วได้เหมือนเดิม

ซึ่งถ้าใครติดตามผลงานพี่ทรายทางโซเชียลมาบ้าง จะเห็นว่าในปีที่ผ่านมาพี่ทรายพูดเกี่ยวกับตโรคซึมเศร้ามากขึ้น มีบทสัมภาษณ์ทางนิตยสาร หรือลงเป็นคลิปวิดีโอในยูทูป ไม่เชื่อคุณลองไปเสิร์ชชื่อ "ทราย เจริญปุระ" ในยูทูปดู คลิปแรกที่ขึ้นมา คือ ช่องพอดแคสต์ของ The Standard ถัดมาเป็นรายการแฉของ GMMTV25 ที่พี่ทรายได้เล่าเรื่องโรคซึมเศร้าของตัวเอง

ถามว่าดีไหมที่พี่ทรายต้องออกมาบอกว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ส่วนตัวผมต้องบอกเลยว่าดี เพราะมันส่งผลกระทบในวงกว้าง มีคนที่ตื่นตัวและหันมาทำความเข้าใจตัวโรคนี้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่คนปกติทั่วไปนะ แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้าเองก็ได้ปรับตัวทำความเข้าใจกับตัวเองด้วย 

หนังสือ "3 วันดี 4 วันเศร้า" ราคา 160 บาท เล่มนี้ น่าจะมีเป้าหมายเพื่อเล่าให้กับผู้ป่วยและสังคมรอบข้างรู้ว่า คุณต้องเจอกับอะไรบ้าง หากคุณหรือคนรอบตัวป่วยเป็นโรคนี้ ทั้งในฐานะที่พี่ทรายเป็นผู้ป่วยเอง และมีคนในครอบครัวป่วยคือ คุณแม่ 

ผมใช้เวลาอ่านประมาณ 1 ชั่วโมง สิ่งที่ได้กลับมาคุ้มค่ามาก พี่ทรายเล่าให้เราฟังว่า โรคซึมเศร้า มันไม่ใช่อาการที่คนคนนึงจะรู้สึกอ่อนแอ ไม่ยอมชนะใจตัวเอง แต่มันคือโรค โรคที่ต้องได้รับการรักษาเหมือนผู้ป่วยคนอื่นทั่วไป ที่เจ็บกายก็รักษากาย เช่นเดียวกับใจ ถ้าใจเราป่วยก็ต้องรักษาเช่นกัน พร้อมทั้งเล่าประสบการณ์ตั้งแต่พี่ทรายประสบอุบัติเหตุ การเข้ารับการรักษา พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป การปรับเปลี่ยนความคิด และการเข้ารับการรักษา สุดท้ายคือประสบการณ์ที่ต้องส่งคุณแม่ตัวเองเข้าโรงพยาบาลศรีธัญญา เพื่อเข้ารักการรักษาอาการทางสมอง

ผมอยากจะบอกว่า พี่ทรายเข้มแข็งและมีสติในการดำเนินชีวิตมาก มากกว่าคนทั่วไป อย่างน้อยพี่ทรายก็กลับมาใช้ชีวิตในสังคม เผชิญหน้าและสู้รบปรบมือไปกับสิ่งที่เข้ามา กลับมาเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี และเป็นนักแสดงมืออาชีพเหมือนเดิม ขอบคุณคนรอบตัวพี่ทรายที่ช่วยกันดูแล และทำให้พี่ทรายเข้มแข็งมาจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม  หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือที่บอกแนวทางการรักษา ผู้ป่วยแต่ละคนมีความพิเศษ ต้องอาศัยความเข้าใจในการรับมือ พึงระลึกไว้ว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งหมดไม่ได้เป็นแบบพี่ทราย

มาร่วมติดตามความแข็งแกร่งของพี่ทราย เจริญปุระ กันได้ที่โลกของนกสีฟ้า: @charoenpura



ไม่มีความคิดเห็น: