วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

Joshua: Teenager vs. Superpower (2017) คนรุ่นใหม่กับการเมือง

"ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นคืออิสรภาพของคุณเอง"

Joshua: Teenager vs. Superpower (2017) เป็นสารคดีที่คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ดูแล้วต้องสะเทือนใจ คุณอาจได้เห็นตามหน้าสื่อมาก่อนหน้านี้ว่าปฏิบัติการร่ม (Umbrella Movement) ของฮ่องกงคืออะไร

คุณไทยอาจรู้จัก Joshua Wong ในนามของวัยรุ่นชาวฮ่องกงที่ได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลกว่าเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองรุ่นใหม่ ที่ตอนนี้ได้เดินทางไปประชุมหรือบรรยายทั่วโลก ยกเว้นประเทศไทย ที่ถูกตม.ไทยกักตัวไว้ถึง 12 ชั่วโมง ไม่ยอมให้เข้าประเทศ  (ไทยรัฐ: โจชัว หว่อง กลับถึงฮ่องกง เผยถูก ตม.ไทยตัดขาดจากโลกภายนอก 12 ชม)

สารคดีเรื่องนี้ เล่าถึงโจชัว หว่อง วัยุร่นนักกิจกรรมทางการเมืองของฮ่องกงที่ก่อตั้งกลุ่ม ที่เรียกว่า Scholarism ที่มีเป้าหมายคือต่อต้านการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่หรือปักกิ่ง

โจชัวร์มองว่า การแทรกแซงจีนส่งผลต่ออนาคตของเกาะฮ่องกง หลังจากที่อังกฤษคืนฮ่องกงให้กับจีน หลังจากที่ตกเป็นอาณานิคมมามากกว่าร้อยปี ฮ่องกงได้สร้างวัฒนธรรมของตนขึ้นมาใหม่ที่ต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างสิ้นเชิง คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ฮ่องกงยอมรับวัฒนธรรมจากจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้ง โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางการเมืองที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจชะตาชีวิตของตัวเอง

เขาจึงเริ่มต่อสู้กับรัฐบาล โดยเริ่มต้นจากการต่อต้านนโยบายการศึกษาที่เรียกว่า Moral and National Education (MNE) โปรแกรมการศึกษานี้ต้องการเปลี่ยนความคิดของมวลชนชาวเกาะฮ่องกงให้มีความเป็นจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น ซึ่งเริ่มต้นจากการที่รัฐบาลของฮ่องกงต้องการโปรแกรมนี้ล้างสมองนักเรียนนักศึกษาฮ่องกง (Wikipedia: Joshua Wong)

กลุ่มของเขาเริ่มใหญ่ขึ้น จากสิบคน เป็นร้อยคน เป็นพันคน เป็นแสนคน ซึ่งจุดสูงสุดของการเข้าร่วมปฏิบัติการร่มคือ 140,000 คน เป็นการตื่นตัวทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของฮ่องกงที่มีผู้นำคือคนรุ่นใหม่

น่าเศร้าที่การรวมตัวของคนรุ่นใหม่นี้ ถูกมองว่าเป็นการต่อต้านรัฐบาล คือศัตรู หลังจากปักหลักเป็นระยะเวลายาวนาน การชุมนุมดังกล่าวก็ถูกสลายลงโดยใช้ความรุนแรง และการปล่อยให้ชุมนุมโดยไม่สนใจ จนสุดท้ายถึงแม้โจชัวจะประท้วงด้วยการอดอาหารก็ตาม ทุกอย่างล้วนไร้ค่าในสายตาของชนชั้นปกครอง

หลังจากที่การชุมนุมสลายลง กลุ่ม Schloarism ที่เขาก่อตั้งก็มาถึงจุดที่ต้องสลายตัวเช่นกัน เนื่องจากเขาเรียนรู้แล้วว่าการชุมนุมโดยการยึดถนนนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้ชนชั้นปกครองเข้ามาใส่ใจประชาชนของตน

กลุ่มของเขาจึงจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจของฮ่องกง จนถึงตอนนี้ การชุมนุมได้จบไปนานแล้ว แต่การต่อสู้ของเขายังไม่จบ เขาเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการต่อสู้ระยะยาว เพื่อ ฮ่องกงยังเป็นฮ่องกง ประเทศที่เขารัก

โจชัว เริ่มการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองตอนอายุ 14 เพราะเขาคิดว่าฮ่องกงคือประเทศที่เขารัก เขาไม่อยากให้มันเปลี่ยนไป ถ้าจะเปลี่ยนก็ควรเปลี่ยนด้วยมือของคนฮ่องกงเอง ไม่ใช่จากอิทธิพลของคนนอก "จีนแผ่นดินใหญ่"

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดการต่อต้านของมวลชนคือ การที่ชาวฮ่องกงไม่มีสิทธิ์เลือกผู้นำของตนเอง ทางการปักกิ่งเป็นคนเลือกผู้นำให้ชาวฮ่องกง แน่นอนว่าผู้นำที่มาจากคนนอกย่อมไม่เห็นหัวประชาชน เมื่อไหร่ที่ประชาชนมีความเห็นที่แตกต่างพวกเขาคือศัตรูของรัฐบาล อันที่จริงแล้วผู้นำฮ่องกงคือเครื่องมือของรัฐบาลจีนที่เข้ามาควบคุมประชาชนชาวฮ่องกงเอง

อนาคตของฮ่องกงจะเป็นเช่นไร แน่นอนว่าไม่ได้อยู่ในมือของโจชัวกับกลุ่มของเขาเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ในมือของชาวฮ่องกงทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของฮ่องกงต่อไป

ถ้าถามว่า คนไทยเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้ จะตอบว่าไม่เรียนรู้อะไรคงไม่ได้เลย แต่จะตอบว่าเรียนรู้อะไรก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน สุดท้ายคงต้องตอบว่า "ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นคืออิสรภาพของคุณเอง"








ไม่มีความคิดเห็น: