วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561

Netflix: American Vandal (2018: Season 2)


เพิ่งดูจนจบไปกับ  American Vandal หลังจากซีซัน 1 เล่าถึงการกลั่นแกล้งในโรงเรียน คือ พ่นสีรถเป็นรูปอวัยวะเพศชายบนรถของอาจารย์ 27 คัน คราวนี้ซีซันที่ 2 กลับมาด้วยความรุนแรงกว่าเดิม การแบลคเมลล์ การวางยา รวมถึงการใช้ความรุนแรง

ซีซันนี้กลับมาตามหาว่าใครคือ Turd Burglar ซึ่งจากที่ลองไปหาความหมายใน Urban Dictionary หมายถึง คนที่เข้ามาขัดจังหวะตอนที่เรากำลังจะถ่ายอุจจาระในห้องน้ำ (ถ้ามันใช่นะ)

Who is Turd Burglar? ประโยคนี้คือคำถามที่แซมกับพีท คู่หูนักสืบวัยไฮสคูลกำลังหาคำตอบ เพราะทั้งคู่ได้มาทำสารคดีสืบหาความจริงจากเหตุการณ์การวางยาในโรงเรียนแห่งหนึ่ง  ซึ่งคราวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "อุจจาระ"

Turd Burglar ซึ่งจากที่ลองไปหาความหมายใน Urban Dictionary หมายถึง คนที่เข้ามาขัดจังหวะตอนที่เรากำลังจะถ่ายอุจจาระในห้องน้ำ (ถ้ามันใช่นะ)

คุณจะทำอย่างไรถ้าเกิดเหตุการณ์เรานี้ในโรงเรียน คุณนึกภาพไม่ออกแน่แน่ ว่ามันเลวร้ายขนาดไหน

  1. มีคนผสมยาถ่ายรุนแรงในน้ำมะนาวตอนพักเทียงในโรงอาหาร จนเป็นเหตุให้นักเรียนทุกคนที่ดื่มมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง ซ้ำร้ายห้องน้ำโรงเรียนไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการท้องเสียของนักเรียนจำนวนมาก ทำให้มีนักเรียนหลายคนถ่ายหนักลงบนถังขยะ ตามทางเดิน ซิงค์น้ำ หรือแม้กระทั่งในรองเท้า ทำให้บริเวณโรงอาหารและโถงทางเดินเต็มไปด้วยอุจจาระ เหตุการณ์ซ้ำเติมคือ มีคนอัพโหลดวิดีโอเหล่านี้ลงอินสตาแกรมพร้อมแท็กชื่อผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ด้วย
  2. คุณเคยเล่นเกมปิดตาตีหม้อไหม โรงเรียนนี้ก็มีเกมคล้าย ๆ กันเกิดขึ้นในคลาสรูม โดยที่ผู้เล่นต้องปิดตาตีหุ่นปูนปั้นที่แขวนห้อยจากเพดานให้แตก แต่ดันมีคนใส่อุจจาระลงไปในหุ่น ซึ่งการตีหุ่นจนแตกทำให้มันกระจายโดนนักเรียนที่ล้อมวงไปทั่ว มีบางคนที่อุจจาระเข้าปากด้วยซ้ำ
  3. โรงยิมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของโรงเรียน มีคนยัดผงอุจจาระแห้งลงไปในพลุ ... ส่งผลให้ผงนั้นกระจายไปทั่วทั้งอัฒจรรย์
แน่นอนว่ามีคนรับเคราะห์จากเหตุการณ์นี้ คือ เควิน เด็กนักเรียนหนุ่มที่แปลกแยกจากสังคมในโรงเรียน เพราะคลิปของเขาที่แสดงเป็นฟรตนินจา จากเกมชื่อดัง เรียกว่าเขาเป็นคนที่โดนบูลลี่ในโรงเรียน ซึ่งพาให้เขาเป็นผู้ต้องสงสัย และมีแรงจูงใจในการล้างแค้นเอาคืนกับคนที่คอยแกล้งเขา

แต่เพื่อนของเควิน คิดว่าเขาไม่ใช่คนทำ จึงได้เชิญแซมกับปีเตอร์มาช่วยกันสืบหาความจริง 

เอาล่ะ ซีซันนี้ซีรีส์เรืองนี้ยังคงมาตรฐานความสนุกได้ดี แซมและพีทค่อย ๆ สืบหาถึงประเด็นต่าง ๆ ที่นำไปสู่ผู้ต้องสงสัยรายถัดไป แนวทางการสืบหาคนร้ายมีการพลิกกลับไปกลับมา หลายครั้งที่การสืบสวนหลงทาง จนต้องกลับมาตั้งต้นกันใหม่ ทั้งคู่จะทำให้เควินหลุดจากการเป็นจำเลยหรือไม่ ต้องมาดูกัน







3 วันดี 4 วันเศร้า กับพี่ทราย เจริญปุระ


คนทั่วไปรู้จักพี่ทรายแบบไหน ผมก็น่าจะรู้จักพี่ทรายแบบนั้น พี่ทรายในภาพจำของผมเป็นนางเอกภาพยนตร์เรื่องนางนาก (ปี 2542) และรับบทเป็นดาราตามช่องต่าง ๆ บ้าง ที่รับรู้ต่อมาคือ เป็นคนติสต์ ไม่เหมือนดารานักแสดงคนอื่น ๆ ต่อมาคือ ประสบอุบัติเหตุ "คอหัก" ตอนที่เราได้ยินข่าวก็ตกใจ คนปกติคอหักคงไม่อยู่แล้ว แต่พี่ทรายยังรอดมาได้นี่โคตรดวงแข็งเลย สุดท้ายคือ พี่ทรายเป็นโรคซึมเศร้า

เฮ้ย! คนแบบพี่ทราย อินทิรา เจริญปุระ เนี่ยนะ เป็นโรคซึมเศร้า มันขัดกับภาพในหัวของเรามาก ว่า พี่ทรายเป็นคนเข้มแข็ง เป็นพี่คนโต ทำงานตั้งแต่เด็ก เราจึงคิดว่านางน่าจะแข็งแกร่งยืนหยัดต่อสู้กับสังคมได้สบาย ๆ ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์อะไรพี่ทรายจะกลับมาเป็นคนเดิม เป็นนางนากที่เฮี้ยนหลอกคนไปทั่วได้เหมือนเดิม

ซึ่งถ้าใครติดตามผลงานพี่ทรายทางโซเชียลมาบ้าง จะเห็นว่าในปีที่ผ่านมาพี่ทรายพูดเกี่ยวกับตโรคซึมเศร้ามากขึ้น มีบทสัมภาษณ์ทางนิตยสาร หรือลงเป็นคลิปวิดีโอในยูทูป ไม่เชื่อคุณลองไปเสิร์ชชื่อ "ทราย เจริญปุระ" ในยูทูปดู คลิปแรกที่ขึ้นมา คือ ช่องพอดแคสต์ของ The Standard ถัดมาเป็นรายการแฉของ GMMTV25 ที่พี่ทรายได้เล่าเรื่องโรคซึมเศร้าของตัวเอง

ถามว่าดีไหมที่พี่ทรายต้องออกมาบอกว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ส่วนตัวผมต้องบอกเลยว่าดี เพราะมันส่งผลกระทบในวงกว้าง มีคนที่ตื่นตัวและหันมาทำความเข้าใจตัวโรคนี้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่คนปกติทั่วไปนะ แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้าเองก็ได้ปรับตัวทำความเข้าใจกับตัวเองด้วย 

หนังสือ "3 วันดี 4 วันเศร้า" ราคา 160 บาท เล่มนี้ น่าจะมีเป้าหมายเพื่อเล่าให้กับผู้ป่วยและสังคมรอบข้างรู้ว่า คุณต้องเจอกับอะไรบ้าง หากคุณหรือคนรอบตัวป่วยเป็นโรคนี้ ทั้งในฐานะที่พี่ทรายเป็นผู้ป่วยเอง และมีคนในครอบครัวป่วยคือ คุณแม่ 

ผมใช้เวลาอ่านประมาณ 1 ชั่วโมง สิ่งที่ได้กลับมาคุ้มค่ามาก พี่ทรายเล่าให้เราฟังว่า โรคซึมเศร้า มันไม่ใช่อาการที่คนคนนึงจะรู้สึกอ่อนแอ ไม่ยอมชนะใจตัวเอง แต่มันคือโรค โรคที่ต้องได้รับการรักษาเหมือนผู้ป่วยคนอื่นทั่วไป ที่เจ็บกายก็รักษากาย เช่นเดียวกับใจ ถ้าใจเราป่วยก็ต้องรักษาเช่นกัน พร้อมทั้งเล่าประสบการณ์ตั้งแต่พี่ทรายประสบอุบัติเหตุ การเข้ารับการรักษา พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป การปรับเปลี่ยนความคิด และการเข้ารับการรักษา สุดท้ายคือประสบการณ์ที่ต้องส่งคุณแม่ตัวเองเข้าโรงพยาบาลศรีธัญญา เพื่อเข้ารักการรักษาอาการทางสมอง

ผมอยากจะบอกว่า พี่ทรายเข้มแข็งและมีสติในการดำเนินชีวิตมาก มากกว่าคนทั่วไป อย่างน้อยพี่ทรายก็กลับมาใช้ชีวิตในสังคม เผชิญหน้าและสู้รบปรบมือไปกับสิ่งที่เข้ามา กลับมาเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี และเป็นนักแสดงมืออาชีพเหมือนเดิม ขอบคุณคนรอบตัวพี่ทรายที่ช่วยกันดูแล และทำให้พี่ทรายเข้มแข็งมาจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม  หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือที่บอกแนวทางการรักษา ผู้ป่วยแต่ละคนมีความพิเศษ ต้องอาศัยความเข้าใจในการรับมือ พึงระลึกไว้ว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งหมดไม่ได้เป็นแบบพี่ทราย

มาร่วมติดตามความแข็งแกร่งของพี่ทราย เจริญปุระ กันได้ที่โลกของนกสีฟ้า: @charoenpura



วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561

พี่มาก..พระโขนง ตีแผ่ความรักของแม่นาคที่มีต่อพ่อมาก


ภาพยนตร์เรื่อง พี่มาก... พระโขนง ถูกกำกับโดยพี่โต้ง บรรจง ผู้กำกับฝีมือเยี่ยมของไทย ที่มีผลงานกำกับภาพยนตร์มากมาย เช่น ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, แฝด, สี่แพร่ง ตอน คนกลาง เป็นต้น ซึ่งหนังที่ผมประทับใจที่สุดคือ ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ เป็นหนังที่โคตรหลอนความรู้สึกในตอนนั้นเลย ส่วนแฝดก็เป็นหนังผีที่โคตรจะหักมุม และมีพล็อตที่ทันสมัยมาก

การกำกับเรื่องนี้ พี่โต้งทำหนังผีได้ถูกจริตคนไทยที่สุด คือ หนังผีที่มาพร้อมกับความตลก ตัวหนังได้ส่วนผสมที่ดีจากทีมเพื่อนพระเอก คือ เต๋อ เผือก เอ ชิน... ซึ่งทุกคนมาพร้อมกับความฮา โดยเฉพาะ เผือก กับ ชิน ซึ่งส่วนตัวผมแล้วคิดว่าหนังพี่มากจะถูกใจคนดูขนาดนี้มากไม่ได้ หากขาดทีมนี้ไป

ส่วนตัวเอกอย่างพี่มาก ที่ได้มาริโอ้ เมาเร่อ มาแสดง กับใหม่ ดาวิกา ที่มาแสดงเป็นแม่นาก ก็กลายเป็นพระเอกนางเอกหนังพันล้านไป

หลังจากดูจบ ผมไม่อยากเรียกหนังเรื่องนี้ว่าเป็นหนังผีด้วยซ้ำ ผมมองว่าพี่โต้งนำเรื่องของแม่นาคมาตีความใหม่ โดยนำเรื่องความรักของแม่นาคที่มีต่อพี่มากมาเป็นจุดเด่นของเรื่อง ต่างจากยุคก่อน ๆ ที่เน้นความน่ากลัวของผีแม่นาค ยิ่งเป็นสมัยของพี่ทราย เจริญปุระ ได้ข่าวว่าน่ากลัวมาก

พูดถึงความรักเนี่ย จะมีความรักใดยิ่งใหญ่กว่าผีแม่นาคอีก ตัวเองตายแล้วแต่ไม่ไปไหน มายืนรอพี่มากที่ท่าน้ำทุกวัน เพราะกลัวว่าผัวตัวเองจะใช้ชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าคนรักหรือตัวแม่นาคเองไม่อยู่แล้ว ยืนรอพี่มากกลับมาเพื่อที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน แค่นั้นเอง

ย้ำว่าจุดประสงค์ของแม่นาคที่ไม่ไปผุดไปเกิด คือ "รอผัว" จริง ๆ ไม่ได้ต้องการหลอกหลอนชาวบ้านแถวนั้นเลย เรียกว่าเป็นผลพลอยได้มากกว่า

ถ้าเราคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังรักดราม่าโรแมนติก ระหว่างคนกับผี "พี่มากกับผีแม่นาค" ข้อความที่ "พี่มาก..พระโขนง" หนังไทยเรื่องนี้ ได้ตอบคำถามเรื่องความรักต่างภพว่าจะจบลงอย่างไรนั้น ก็มีคำตอบในตอนท้ายของหนัง

แล้วคุณที่เคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้ คิดอย่างไร? กับความรักของแม่นาค ถ้าคุณเป็นพ่อมาก คุณจะตอบรับความรักของแม่นาคเหมือนในเรื่องไหม หรือจะตอบรับในแบบของคุณเอง






วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2561

Netflix: Hold The Dark (2018) หิมะ หมาป่า อาถรรพ์ และความตาย


Hold The Dark (2018) "หิมะ หมาป่า อาถรรพ์ และความตาย" หนังสุดโหดต้นฉบับจากเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังครอบครัวที่เด็กควรดู แม้ตัวอย่างหนังจะบอกผู้ชมว่า ผู้หญิงคนหนึ่งสูญเสียลูกเพราะหมาป่า เธอจึงเขียนจดหมายเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านมาจัดการ เธอต้องการคำตอบก่อนที่สามีของเธอจะกลับมา

ตอนแรกผมเข้าใจว่ากำลังดูหนังผจญภัยตามล่าหมาป่าทั่วไป เพราะตัวหนังมีพื้นหลังเป็นภูเขาหิมะ สุนัขป่า การสูญเสีย และการสืบหาความจริง

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2561

Chaploo Cafe & Gallery คาเฟ่เล็ก ๆ กับไอศครีมโฮมเมดสุดประทับใจ ณ ปัตตานี

บรรยากาศร้านชะพลูตอนกลางคืน

Chaploo Cafe &  Gallery เป็นคาเฟ่เล็ก ๆ ที่มีจุดเด่นอยู่ที่ไอศครีมโฮมเมด ตั้งอยู่บนถนนโรงเหล้าสาย ข ติดกับร้านวุ้นคุณปุ๊ (Google maps) ร้านนี้เป็นร้านที่ผมที่ขับรถผ่านบ่อย เนื่องจากเป็นถนนสายที่ต้องขับผ่านระหว่างที่ทำงานกับร้านอาหารต่าง ๆ โดยเป็นถนนเส้นคู่ขนานกับถนนสาย ม.อ.ปัตตานี ถนนสายที่คึกคักที่สุดของเมืองปัตตานี แต่ก็ขับผ่านมาแล้วก็เลยไปตลอด จนมาถึงตอนที่เขียนบทความนี้ก็รู้สึกเสียดาย น่าจะเข้าไปให้เร็วกว่านี้

จนช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา  ผมก็มีโอกาสเข้าไป ณ คาเฟ่แห่งนี้ เนื่องจากร้านร้านกาแฟที่นั่งประจำของผมเกิดปิดร้านขึ้นมา ทว่าตอนนั้นผมหิวกาแฟจนมือสั่น เลยต้องขี่มอไซต์หาร้านกาแฟใกล้ ๆ แถวนั้น ประกอบกับอยากลองของใหม่ สุดท้ายเลยได้มาลงเอยกับร้านชะพลู

ตัวร้านชะพลูคาเฟ่มีขนาด 5-6 โต๊ะ ตกแต่งตามสไตล์ทั่วไป ให้ความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเอง ภายในร้านดูสะอาดตา โต๊ะเก้าอี้ประกอบด้วยไม้เกือบทั้งหมด ร้านไม่เหมาะกับการนั่งทำงานยาว ๆ เพราะไม่มีปลั๊กให้ต่อพ่วง แต่มีรหัสผ่านไวไฟให้ เหมาะกับลูกค้าที่มานั่งผ่อนคลายจิบกาแฟ ทานไอศครีมมากกว่า

คาเฟ่แห่งนี้ให้บริการเครื่องดื่ม ชา กาแฟ ไอศครีมโฮมเมดรสต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วยังมีเค้กนมสดที่ทางร้านทำเองด้วย (ยังไม่ลอง)

หากถามว่าแนะนำอะไรสำหรับคนที่มาร้านนี้เป็นครั้งแรก ก็จะแนะนำให้ลองไอศครีมเสาวรส เป็นรสชาติที่หากคุณทานแล้วรับรองว่าจะติดลิ้นคุณไปจนวันตาย  เหมาะกับคนทีชอบรสเปรี้ยว (เปรี้ยวมาก ๆ) ***เจ้าของร้านสะกิดบอกว่า มีลูกค้าหลายคนที่สั่งไปลองแล้วทานไม่ได้เพราะเปรี้ยวเกินจะรับไหว สุดท้ายได้แค่เอาลิ้นแตะสองสามครั้ง ทำหน้าเปรี้ยวสุดใจแล้ววางช้อน

จนตอนนี้ถ้าใครสั่งไอศครีมเสาวรส ทางร้านจะให้ชิมก่อนเลยว่าคุณรับรสเปรี้ยวขนาดนี้ไหวไหม

จากที่ผมเข้าไปใช้บริการที่คาเฟ่เล็ก ๆ นี้หลายครั้ง ชะพลูคาเฟ่มีลูกค้าเยอะพอสมควร โดยเฉพาะตอนพักเที่ยง หลายคนมาร้านเพื่อที่จะสั่งไอศครีมโฮมเมดมาทานกันโดยเฉพาะ ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะว่าไอศครีมของที่ร้านอร่อยโดดเด่นกว่าเครื่องดื่มมาก

นอกจากนี้ ทางคาเฟ่ยังมีแจกต้นกระบองเพชรจิ๋วอีกด้วย ซึ่งคุณผู้หญิงเจ้าของบอกว่า สามารถหยิบได้ฟรี เพียงแค่แจ้งเจ้าทางร้านเท่านั้นเองครับ

ร้านชะพลูเปิดประมาณ 10.00 - 20.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ สำหรับราคาบอกเลยว่าไม่แพง เช่น อเมริกาโน่หวานน้อย ที่ร้านอื่นเริ่มที่ 50 บาท ร้านชะพลูขายแก้วละ 40 บาท ส่วนไอศครีมโฮมเมด ก้อนละ 35 บาท เทียบกับรสชาติแล้วไม่แพงเลย

สามารถเข้าไปดูข้อมูลของร้าน ได้ที่ ...
หมายเหตุ ที่เห็นรูปไอศครีมหลายถ้วย ผมกินแค่วันละถ้วยนะ ไม่ได้กินทั้งหมด หรือสั่งมาถ่ายรูปอย่างเดียวแต่อย่างใด


บรรยากาศภายในร้านชะพลู

อเมริกาโน่เย็นหวานน้อย เมนูเครื่องดื่มที่ผมชอบสั่ง

ไอศครีมกะทิไข่แข็งราดผงโกโก้ (กระมังนะ) อร่อยมาก กินแล้วรู้เลยว่าอ้วน แต่อร่อยมาก

ไอศครีมโฮมเมดรสช็อคโกแลต อันนี้ก็อร่อยได้รสช็อคเต็ม ๆ ไม่หวานจนเลี่ยนด้วย

รสเสาวรส เปรี้ยวจี๊ดถึงใจมาก ใครไม่ชอบรสเปรี้ยวอย่าลอง
หรือถ้าอยากลองชิมก่อนสามารถขอชิมได้
เจ้าของร้านบอกเสียดายของที่ลูกค้าสั่งแล้วไม่กิน

อันนี้รสยอดฮิตของไทย รสชาไทย อันนี้ไม่หวานมากเหมือนกัน กินได้เพลิน ๆ

ไอศครีมกะทิเพียว ๆ อันนี้ก็อร่อยอีกเหมือนกัน 

รสบลูเบอร์รี่ ชอบตรงที่มีเนื้อบลูเบอร์รี่ผสมอยู่ในเนื้อไอศครีมด้วย
ให้รสสัมผัสที่ดีมาก 
วันที่ 29 เดือน กันยายน ผมได้ลองกินเจลาโต้มะม่วงน้ำปลาหวาน
ความรู้สึกแรกที่เห็นคือ ต้องถามตัวเองว่า "มันจะกินได้เหรอ?"
แต่พอได้ลองตักเข้าปากแล้ว พบว่า มหัศจรรย์
ที่คนเราจะมีเจลาโต้มะม่วงน้ำปลาหวาน ที่กินแล้วโคตรอร่อย
อันนี้ต้องลอง 

โกโก้โอรีโอ้



วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561

The Night of the Wild Boar (2016)


หนังเล่าเรื่องผ่าน คลอเดีย นักเขียนนิยายโรแมนติก เดินทางไปเมืองเล็กทางตอนใต้ของอเมริกาเพื่อต้องการสืบหาความจริงเกี่ยวกับการจากไปของแฟนเก่าเธอ กิเยโม ที่เป็นนักเขียนนิยายเช่นกัน แต่เป็นนิยายฆาตกรรม

นิยายฆาตกรรมแต่ละเล่มของกิเยโมแฟนเก่าเธอนั้น มีรายละเอียดที่ชัดเจนจนคนอ่านต้องเห็นภาพ สอดคล้องกับการหายตัวไปของหญิงสาวหลายคนภายในเมืองแห่งนี้ ทำให้ชาวเมืองชวนคิดว่า การหายตัวไปของผู้หญิงในเมือง กับนิยายฆาตกรรมของกิเยโม มีความเกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะตำรวจที่เชื่อว่า กิเยโม คือฆาตกรที่ฆ่าเด็กสาวเหล่านั้น แล้วนำมาเขียนเป็นหนังสือ

ทว่าตัวของคลอเดียเองกลับไม่เชื่อว่าแฟนเก่าของเธอเป็นคนฆ่า เพราะฉะนั้นเธอจึงอ่านหนังสือของเขาทุกเล่ม พร้อมกับสืบหาวัตถุพยาน ที่ตรงกับในหนังสือ ซึ่งเธอพบว่าไม่มีเหตุการณ์ใดที่ตรงกันเลย ยกเว้น "ถุงมือสีแดง"

ถุงมือสีแดงนั้นเองที่นำพาทุกอย่างไปสู่จุดจบของเรื่อง สัญชาตญานของมนุษย์ การล้างแค้น และความวิปริตของตัวละคร ในหนังเรื่องนี้มีครบทุกอย่างที่มนุษย์เรากลัว

ตัวละครคลอเดียนั้นมีความซับซ้อนของบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก การแสดงออกที่ดูอ่อนแอ แต่แท้จริงแล้วเข้มแข็ง และโหดเหี้ยมกว่าที่คิด

หนังสัญชาติสเปนเรื่องนี้ ตัวหนังผูกปมและคลายปมให้คนดูในเวลาไม่นาน รวมถึงชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย คือ The Night of the Wild Boar ว่าทำไมต้องมีหมูป่าอยู่ในชื่อเรื่อง ซึ่งเหตุผลที่เฉลยนั้นทำให้ผมสยองมาก และสัญญากับตัวเองว่าจะเลิกกินหมูป่าไปตลอดชีวิต








วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561

Netflix: I am the Pretty Thing That Lives in the House (2016) นักเขียนกับบ้านแห่งความตาย


ฉันคือสิ่งน่ารักที่อาศัยอยู่ในบ้าน I am the  Pretty Thing That Lives in the House. หนังสยองขวัญต้นฉบับจากเน็ตฟลิกซ์

ลิลลี่คือพยาบาลสาววัย 28 ปี นิสัยขี้กลัว ถูกว่าจ้างให้มาดูแลนักเขียนวัยเกษียณที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งนักเขียนท่านนี้เป็นนักเขียนเรื่องสยองขวัญชื่อดัง เพราะฉะนั้นบรรยากาศภายในบ้านก็มักจะมีความมืดมนหดหู่ ซึ่งไม่รู้ว่าเธอทนอยู่ไปได้อย่างไร

ในขณะที่เธออาศัยอยู่ในบ้านหนังนี้ ก็มีเรื่องที่น่าตกใจเกิดขึ้น ได้แก่ โทรศัพท์ที่ถูกปัดตก การเห็นคนอาศัยอยู่ในบ้าน ทั้งที่มีเพียงแค่เธอกับนักเขียนสองคนเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในบ้านแห่งนี้

ประโยคที่ผมจำได้ดีจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือ "บ้านที่มีความตายเกิดขึ้นนั้น คนเป็นไม่สามารถซื้อได้ ยกเว้นที่จะยืมจากคนตายเท่านั้น"

หนังไม่ได้ออกแนวกระตุกขวัญมากนัก หนังเล่าด้วยความราบเรียบ ค่อยค่อยพาเราให้จมไปกับเรื่องราวขอตัวละคร จมดิ่มไปกับความหลังของนักเขียนและบ้านหลังนี้ จมไปกับความน่ากลัวของสันดานมนุษย์ที่น่ากลัวยิ่งกว่าความตาย

สิ่งที่ผมชอบในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องนี้คือ ความคลาสสิคของบรรยากาศภายในเรื่อง การบรรยาย จุดไคลแมกซ์ และจุดจบของตัวละคร ที่ไม่ได้เล่าให้เล่าฟังด้วยความกระโตกกระตาก แต่พาเราชมบ้านไปเรื่อย ๆ พร้อมกับเล่าเรื่องราวของมันให้ฟัง ตัวหนังดูเพลินจนจบแบบไม่รู้ตัว

มาติดตามกันว่าเธอจะกลายเป็น The Pretty Thing ในบ้านหลังนี้ได้อย่างไร และจะกลับออกไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้หรือไม่ ลองชมกันครับ








วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

Mission To The Moon Podcast: EP 145 - Burnout คืออะไร แก้ปัญหาอย่างไร

ที่มาภาพ: London Emergency Medicine Blog

ตอนเดินออกกำลังกายเช้านี้ ผมได้ฟังพอดแคสต์ช่อง Mission To The Moon เหมือนเดิม ที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้วตอนนึงคือเรื่อง  Meditation X Productivity ซึ่งเช้านี้ได้ฟังพอดแคสต์ของคุณรวิศสามตอน แต่ตอนที่ฟังแล้วต้องนำมาคิดต่อมากที่สุดคือ เรื่องของอาการ Burnout หรืออาการหมดไฟของเหล่าพนักงานกินเงินเดือน ซึ่งพยายามสรุปให้คุณฟังได้เท่านี้ หากต้องการรายละเอียดที่เพิ่มขึ้น ก็สามารถกดเข้าไปฟังได้เลยที่  Mission To The Moon Podcast: EP 145 - Burnout

การสังเกตอาการเบิร์นเอาท์หรือหมดไฟในออฟฟิศ
  1. Exhaustion เป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุด มาจากสภาพร่างกายที่เหนื่อยตลอดเวลา สมองล้า โดยอาจจะมาจากหลายสาเหตุ เช่น การทำงานเยอะเกินไป พักผ่อนน้อยเกินไป หรืองานที่มีลักษณะต้องให้ตัวเองอยู่กับงานตลอดเวลา ตรงนี้จะขอให้สังเกตว่าคุณมีอาการเหนื่อยมากหรือไม่ที่จะพาตัวเองไปออฟฟิศ หรือพาตัวเองออกจากออฟฟิศ
  2. Depersonalisation อาการที่คุณมีความรู้สึกที่ว่างานที่ทำไม่ใช่เรื่องของคุณ ความภูมิใจกับงาน ความเชื่อมต่อกับงาน ความอยากทำงาน ความอยากต่อสู้กับงานหายไป ทำเพียงเพราะต้องทำ เพียงแค่นั้นใช่หรือไม่
  3. Inefficiency คือ คุณประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ถึงแม้ว่าจะทำงานในเรื่องเดิมที่เคยทำได้ดีก็ตาม
วิธีการแก้ปัญหาคือ
  1. คุณต้องกลับมาดูแลตัวเอง ดูแลสุขภาพตนเอง นอนที่เพียงพอหรือไม่ ทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย การมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวเพื่อนฝูง ซึ่งกรณีหลังจะช่วยเพิ่มพลังบวกให้คุณได้เยอะมาก
  2. บันทึกกิจกรรมที่ทำแต่ละวัน เช่น การประชุม การพูดคุยกับใครก็ตาม แล้วให้คะแนนแต่ละกิจกรรม เพื่อดูว่ากิจกรรมไหนที่เราทำแล้วเป็นการเพิมพลังงานแก่ตัวเราเอง กิจกรรมไหนที่ได้คะแนนน้อยหรือติดลบทำแล้วได้แต่พลังทางลบ เราควรเลี่ยงกิจกรรมดังกล่าวเสีย เช่น การคุยกับคนที่คิดร้ายตลอดเวลา ก็จะช่วยลดกิจกรรมที่สูบพลังงานของเราไป
  3. เปลี่ยนทัศนคติงานของตัวเอง เช่น งานเยอะเพราะเราไม่ยอมปล่อยงานออกจากมือเราหรือไม่ ความกังวลว่าคนอื่นจะทำงานได้ไม่ดีเท่าตัวเอง 
  4. เนื้อหาสาระของงาน เหมาะกับตัวเราเองหรือไม่ เช่น เราชอบทำงานคนเดียว แต่กลับต้องมาทำงานที่ต้องสู้รบปรบมือกับคนอื่น มันจะทำให้เราต้องต่อสู้กับความรู้สึกนี้อยู่ตลอดเวลา
  5. งานที่ทำขัดความเชื่อเดิมของเราหรือไม่
  6. พยายามลดความเครียดที่เกิดจากงาน เช่น เสาร์อาทิตย์ห้ามทำงาน
ถ้าคุณเป็นหัวหน้าทีม ทำอย่างไรที่ป้องกันไม่ให้ลูกน้องเบิร์นเอาท์ได้
  1. หัวหน้าทีมต้องหาสัญญาณของการเบริน์เอาท์ เช่น การซึมเศร้า การทำหน้าเบื่อหน่ายตลอดเวลา
  2. กำหนดปริมาณงานที่ลูกน้องต้องทำ อย่าสั่งงานเหมือนลูกน้องเป็นหุ่นยนต์
  3. เป็นโล่ห์กำบังทีมของคุณ ปกป้องไม่ให้แรงกดดันตกมาสู่ลูกน้องมากเกินไป
  4. ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการพักผ่อน ให้เห็นความสำคัญของการตัดจบงานในแต่ละวัน อย่าสร้างวัฒนธรรมในการเลิกงานสายกว่าเวลาปกติ
  5. ต้องให้ลูกน้องในทีม มีความสามารถในการควบคุมงานของตัวเอง กำหนดเป้าหมายระยะเวลาเครื่องมือ แต่ปัจจัยที่เหลือต้องให้ลูกน้องจัดการ
  6. เวลาลูกน้องทำอะไรที่ดีต้องชื่นชมหรือมีปฏิกริยาตอบกลับ
  7. ต้องมีการใช้เวลากับทีม ในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องงานบ้าง ไม่จำเป็นต้องคุยเรื่องงานตลอดเวลา
ถ้าพยายามแก้ไขแล้วยังคงมีอาการเบิร์นเอาท์อยู่ต้องทำอย่างไร
  1. งานไม่ใช่ทุกอย่างชีวิต ถ้าไม่เวิร์คให้หางานใหม่ อย่าปล่อยให้งานที่ไม่เหมาะกับตัวคุณทำลายชีวิตที่แสนสั้นของตัวคุณเอง
  2. พยายามดูแลตัวเอง และสภาพจิตใจของคนรอบข้างให้มากที่สุด

Joshua: Teenager vs. Superpower (2017) คนรุ่นใหม่กับการเมือง

"ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นคืออิสรภาพของคุณเอง"

Joshua: Teenager vs. Superpower (2017) เป็นสารคดีที่คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ดูแล้วต้องสะเทือนใจ คุณอาจได้เห็นตามหน้าสื่อมาก่อนหน้านี้ว่าปฏิบัติการร่ม (Umbrella Movement) ของฮ่องกงคืออะไร

คุณไทยอาจรู้จัก Joshua Wong ในนามของวัยรุ่นชาวฮ่องกงที่ได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลกว่าเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองรุ่นใหม่ ที่ตอนนี้ได้เดินทางไปประชุมหรือบรรยายทั่วโลก ยกเว้นประเทศไทย ที่ถูกตม.ไทยกักตัวไว้ถึง 12 ชั่วโมง ไม่ยอมให้เข้าประเทศ  (ไทยรัฐ: โจชัว หว่อง กลับถึงฮ่องกง เผยถูก ตม.ไทยตัดขาดจากโลกภายนอก 12 ชม)

สารคดีเรื่องนี้ เล่าถึงโจชัว หว่อง วัยุร่นนักกิจกรรมทางการเมืองของฮ่องกงที่ก่อตั้งกลุ่ม ที่เรียกว่า Scholarism ที่มีเป้าหมายคือต่อต้านการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่หรือปักกิ่ง

โจชัวร์มองว่า การแทรกแซงจีนส่งผลต่ออนาคตของเกาะฮ่องกง หลังจากที่อังกฤษคืนฮ่องกงให้กับจีน หลังจากที่ตกเป็นอาณานิคมมามากกว่าร้อยปี ฮ่องกงได้สร้างวัฒนธรรมของตนขึ้นมาใหม่ที่ต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างสิ้นเชิง คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ฮ่องกงยอมรับวัฒนธรรมจากจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้ง โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางการเมืองที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจชะตาชีวิตของตัวเอง

เขาจึงเริ่มต่อสู้กับรัฐบาล โดยเริ่มต้นจากการต่อต้านนโยบายการศึกษาที่เรียกว่า Moral and National Education (MNE) โปรแกรมการศึกษานี้ต้องการเปลี่ยนความคิดของมวลชนชาวเกาะฮ่องกงให้มีความเป็นจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น ซึ่งเริ่มต้นจากการที่รัฐบาลของฮ่องกงต้องการโปรแกรมนี้ล้างสมองนักเรียนนักศึกษาฮ่องกง (Wikipedia: Joshua Wong)

กลุ่มของเขาเริ่มใหญ่ขึ้น จากสิบคน เป็นร้อยคน เป็นพันคน เป็นแสนคน ซึ่งจุดสูงสุดของการเข้าร่วมปฏิบัติการร่มคือ 140,000 คน เป็นการตื่นตัวทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของฮ่องกงที่มีผู้นำคือคนรุ่นใหม่

น่าเศร้าที่การรวมตัวของคนรุ่นใหม่นี้ ถูกมองว่าเป็นการต่อต้านรัฐบาล คือศัตรู หลังจากปักหลักเป็นระยะเวลายาวนาน การชุมนุมดังกล่าวก็ถูกสลายลงโดยใช้ความรุนแรง และการปล่อยให้ชุมนุมโดยไม่สนใจ จนสุดท้ายถึงแม้โจชัวจะประท้วงด้วยการอดอาหารก็ตาม ทุกอย่างล้วนไร้ค่าในสายตาของชนชั้นปกครอง

หลังจากที่การชุมนุมสลายลง กลุ่ม Schloarism ที่เขาก่อตั้งก็มาถึงจุดที่ต้องสลายตัวเช่นกัน เนื่องจากเขาเรียนรู้แล้วว่าการชุมนุมโดยการยึดถนนนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้ชนชั้นปกครองเข้ามาใส่ใจประชาชนของตน

กลุ่มของเขาจึงจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจของฮ่องกง จนถึงตอนนี้ การชุมนุมได้จบไปนานแล้ว แต่การต่อสู้ของเขายังไม่จบ เขาเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการต่อสู้ระยะยาว เพื่อ ฮ่องกงยังเป็นฮ่องกง ประเทศที่เขารัก

โจชัว เริ่มการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองตอนอายุ 14 เพราะเขาคิดว่าฮ่องกงคือประเทศที่เขารัก เขาไม่อยากให้มันเปลี่ยนไป ถ้าจะเปลี่ยนก็ควรเปลี่ยนด้วยมือของคนฮ่องกงเอง ไม่ใช่จากอิทธิพลของคนนอก "จีนแผ่นดินใหญ่"

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดการต่อต้านของมวลชนคือ การที่ชาวฮ่องกงไม่มีสิทธิ์เลือกผู้นำของตนเอง ทางการปักกิ่งเป็นคนเลือกผู้นำให้ชาวฮ่องกง แน่นอนว่าผู้นำที่มาจากคนนอกย่อมไม่เห็นหัวประชาชน เมื่อไหร่ที่ประชาชนมีความเห็นที่แตกต่างพวกเขาคือศัตรูของรัฐบาล อันที่จริงแล้วผู้นำฮ่องกงคือเครื่องมือของรัฐบาลจีนที่เข้ามาควบคุมประชาชนชาวฮ่องกงเอง

อนาคตของฮ่องกงจะเป็นเช่นไร แน่นอนว่าไม่ได้อยู่ในมือของโจชัวกับกลุ่มของเขาเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ในมือของชาวฮ่องกงทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของฮ่องกงต่อไป

ถ้าถามว่า คนไทยเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้ จะตอบว่าไม่เรียนรู้อะไรคงไม่ได้เลย แต่จะตอบว่าเรียนรู้อะไรก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน สุดท้ายคงต้องตอบว่า "ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นคืออิสรภาพของคุณเอง"








วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2561

Netflix: American Vandal (2017: Season 1)



ซีรีส์เรื่องเยี่ยมจากเน็ตฟลิกซ์ ที่ฟาดคะแนนจากเว็บมะเขือเน่าไป 98% (RottenTomatoes.com)ในซีซันแรก ซึ่งเป็นซีซันที่ผมเพิ่งดูจนจบ (Netflix) แต่ปัจจุบันมีถึงซีซันที่สองแล้ว เบื้องต้นแล้วผมไม่ชอบดูการแกล้งคนของยูทูปเบอร์หรือวัยรุ่นต่าง ๆ เพื่อความสนุก แต่ซีรีส์เรื่องนี้กล่าวถึงเรื่องนั้นเต็ม ๆ และเล่าได้สนุกมากมาก

เหตุการณ์เริ่มต้นที่บ่ายวันหนึ่ง รถบุคลากรจำนวน 27 คันในโรงเรียนถูกพ่นสีเป็นรูปอวัยวะเพศชาย ollo ย้ำว่าทุกคัน ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนมีผู้ต้องสงสัยในใจคือ Dylan Maxwell ซึ่งไดลันโดยพื้นฐานประวัติการเรียนมาสี่ปีแล้ว มีพฤติกรรมต่อต้านโรงเรียน ต่อต้านครูอาจารย์ และมิหนำซ้ำยังชอบว่ารูป "ollo" ไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นในกระดาษคำตอบ ไวท์บอร์ด หรือแม้กระทั่งทำคลิปลงยูทูป

แต่แน่นอนว่าปมของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ ไดลัน ไม่ได้ทำ เขายืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้ทำ อีกอย่างเขาไม่มีความสามารถพอที่จะลบภาพจากกล้องวงจรปิด ภายในระยะเวลาไม่กี่นาทีได้ แต่แน่นอนเขาโดนคณะกรรมการบริหารของโรงเรียนตัดสินให้เขาพักการเรียนทันที และต้องรอขึ้นศาล เนื่องจากความเสียหายจากการพ่นสีรถนั้น มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ

Dylan จะทำอย่างไรดี ...

Dylan อยู่ชมรมนักข่าว มีเพื่อนสองคนที่ชอบทำหนังหรือสารคดี พีทกับแซม ซึ่งทั้งสองคนก็จะคอยพกกล้องเพื่อหาความจริงไปด้วย ทำให้สไตล์ของซีรีส์เรื่องนี้เป็นฝีมือของนักเรียนไฮสคูลเอง ต่างจากซีรีส์สืบสวนอื่น ๆ ที่ใช้นักสืบหรือตำรวจมือฉมัง (แน่นอนว่านักสืบเจ๋ง ๆ เขาคงไม่มีทำคดีพ่นสีรถเป็นรูปควยอย่างนี้หรอก)

สไตล์การเล่าเรื่องของซีรีส์เรื่องนี้ คือ "ทุกคนมีความลับที่ซ่อนอยู่" ยิ่งเป็นการสัมภาษณ์หน้ากล้อง บนใบหน้าที่ทุกคนแสดงว่าตัวเองเล่าความจริงออกมาหมดแล้วนั้น ล้วนมีสิ่งที่ไม่ได้พูด ทั้งการใส่ร้าย การปกปิดข้อมูล การแกล้งทำเป็นคนดี หรือรวมถึงการโกหกเพื่อเรียกร้องความสนใจ

ซึ่งความลับที่ซ่อนอยู่ของทุกคน เพื่อนนักเรียน อาจารย์ หรือแม้กระทั่งพ่อแม่เอง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องนี้สนุก ไม่มีการเปิดเผยความลับอย่างตรงไปตรงมา ทุกอย่างต้องผ่านการค้นหา หรือสืบค้น

หลายอย่างในเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครที่สะอาดบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้แต่รางวัลคุณครูยอดเยี่ยมประจำปี หรือประธานนักเรียนก็ตาม

ขอให้ทุกคนรับชมกันให้สนุกนะครับ






Netflix: Forgotten (2017)


ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าเกาหลีจะทำหนังระทึกขวัญได้ดีขนาดนี้ Forgotten เป็นหนังเกาหลีที่ผมได้ดูขณะที่นั่งจิบกาแฟเล็มไอศครีมโฮมเมดรสบลูเบอร์รี่อยู่ที่ร้านชาพลู คาเฟ่เล็ก ๆ ในเมืองปัตตานี พลางคิดว่ามันจะออกมาเละเทะไหม แต่ไม่เลย ตัวหนังทำได้ดีเกินคาด ทั้งคนแสดง และพล็อตที่พลิกกลับไปกลับมาจนเราอยากจะบอกว่า "พอ!"

Forgotten เล่าเรืองครอบครัวที่ย้ายบ้านใหม่ ดูสมบูรณ์แบบ มีพ่อ แม่ พี่ชาย และน้องชาย ซึ่งประเด็นสำคัญของหนังอยู่ที่พี่ชายและน้องชาย พี่ชายชื่อยูซอก น้องชายชื่อจินซอก (ถ้าเขียนชื่อผิดก็ขออภัย)

ยูซอกมีลักษณะของพี่ชายที่สมบูรณ์แบบเด็กอัจฉริยะ เป็นที่พึ่งของน้องชายอย่างยูซอกที่ได้ชื่อว่าเป็นเด็กไม่เอาไหนได้เป็นอย่างดี

ในคืนหนึ่งระหว่างที่ทั้งคู่กำลังเดินกลับจากออกไปเดินรับลม ชมบรรยากาศ ฟังเสียงฟ้าฝน นอกบ้าน ยูซอกพี่ชายที่เดินกลับบ้านมาก่อนกลับถูกจับตัวไป ถึงแม้ยูซอกผู้เป็นน้องชายจะเดินตามหลังมาไม่นาน แต่ก็พอที่จะทันเห็นป้ายทะเบียนรถตู้สีดำคันที่ยูซอกโดนอุ้มไป

แต่ถึงแม้ยูซอกจะมีข้อมูล แต่ทางตำรวจก็ไม่สามารถจะสืบหาคนร้ายได้ จนเวลาผ่านไป 19 วัน ท่ามกลางความกังวลของครอบครัว จินซอกก็กลับมา! พร้อมกับจำเหตุการณ์อะไรไม่ได้เลย

เหตุการณ์แปลก ๆ เริ่มเกิดขึ้น ตั้งแต่มีเสียงดังน่าสงสัยออกจากห้องที่ปิดตาย พี่ชายคือจินซอกที่อยู่ ๆ ก็เดินออกนอกบ้านไป ตอนกลางคืน จนยูซอกคิดว่า พี่ชายที่กลับมา ไม่น่าจะใช้พี่ชายคนเดิมของเขา

เหตุการณ์หลังจากนี้คือ ยูซอกได้เข้าไปตามหาเบาะแสต่าง ๆ เกี่ยวกับพี่ชายคนที่เพิ่งกลับมา แต่เขาก็เจอความจริงที่น่าพิศวงขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องราวล้วนน่าติดตาม ไม่มีช่วงให้น่าเบื่อเลย

สิ่งที่ชอบในหนังเรื่องนี้คือ พล็อตที่ยอดเยี่ยม และที่สุดยอดไปเลยคือการคลายทุกปมปริศนาในเรื่องตอนจบ ไม่ทำให้เกิดความค้างของคนดูว่าทำไมต้องแบบนี้แบบนั้น ทุกอย่างเคลียร์เมื่อหนังจบลง

ปล.ตัวหนังมีการใช้ความรุนแรงพอสมควร



วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561

Mission To The Moon Podcast: EP 152 - Meditation X Productivity

ลู่วิ่งที่สวนสมเด็จ

วันนี้มีโอกาสตื่นเช้าประมาณตีห้า ได้เดินออกกำลังกายที่สวนสมเด็จของปัตตานี ด้วยความที่ระหว่างเดินผมมีนิสัยชอบหาอะไรฟังไปด้วย เมื่อก่อนจะชอบฟังเพลงในสปอติฟาย แต่เดี๋ยวนี้จะเปลี่ยนมาฟัง Podcasts แทน เพราะว่าได้เนื้อหาความรู้หรือแนวทางการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

ซึ่งปัจจุบัน บอกตัวเองว่าเป็นมือใหม่ในการเข้ามาฟังพอดแคสต์ ช่องที่จะฟังก็จะมีแค่สองสามช่อง คือ Mission to Thee Moon, หลวงพ่อปราโมทย์ และ The Standard

ซึ่งวันนี้ที่ใช้เวลาเดินออกกำลังกายประมาณชั่วโมงกว่า ได้ฟังพอดแคสต์ช่อง Mission to Thee Moon ของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ผู้บริหารศรีจันทร์ จำนวนสามเรื่อง คือ

  1. EP 153 - 13 Things Mentally Strong Won't do, 
  2. EP 152 - Meditation X Productivity และ 
  3. EP 151 - Tech Monday เรื่องสัพเพเหระ กับ AI 

แต่เรื่องที่ชอบจนต้องกลับมาฟังซ้ำและเขียนบทความเล่าให้ฟังอยู่ตอนนี้คือเรื่องของการทำสมาธิกับผลิตภาพ หรือ Productivity ความยาว 21 นาที สิ่งที่ได้คือความอยากที่จะทำสมาธิเพื่อที่จะนำไปพัฒนาตัวเองบ้าง

พอดแคสต์ตอนนี้จะพูดถึงเรื่องการทำสมาธิเพื่อเพิ่ม Productivity (ผลิตภาพ) ในการทำงาน ว่าการทำสมาธิจะส่งผลต่อการพัฒนาตัวเองและองค์กรอย่างไร

ในปัจจุบันการนั่งสมาธิจะมีตัวช่วยเยอะ อย่างในไอโฟนเองก็จะมีแอพที่ช่วยนั่งสมาธิเยอะมาก ซึ่งคุณรวิศได้ยกตัวอย่างแอพที่เขาใช้คือ แอพ Calm หน้าตาดังรูป


ตัวคุณรวิศเองเริ่มเห็นผลดีจากการนั่งสมาธิ คือ

  1. เริ่มเห็นอารมณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ รู้สึกตัวมากขึ้นเวลาโมโห ซึ่งพอรู้สึกตัวเวลาโกรธจะทำให้ความโกรธนั้นหายไปเยอะ ซึ่งบางครั้งความรู้สึกโกรธอาจจะมากเท่าเดิม แต่การแสดงออกเวลาโกรธจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ควบคุมตัวเองได้มากขึ้น ส่งให้การทำงานกับครอบครัวดีขึ้นมาก
  2. ตัวอย่างอีกอย่างหนึ่งคือ การเพิ่มขึ้นของ will power ในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่เราตั้งใจทำไว้
  3. การจดจ่อการสิ่งที่ทำอยู่ ไม่วอกแวก
  4. การอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น เช่น เล่นกับลูกก็เล่นกับลูก ทำงานก็ทำงาน อ่านหนังสือคืออ่านหนังสือ
  5. ทำให้จิตใจสงบลง
อีกอย่างที่ชอบมากคือ การที่คุณรวิศนำงานวิจัยเกี่ยวกับสมาธิมาเล่าให้ฟัง คือ งานวิจัยแรก เล่าเกี่ยวกับผลในทางบวกของการนั่งสมาธิในที่ทำงาน ทำให้ผู้ทำสมาธิยืดหยุ่นทางความคิดมากขึ้น คิดบวกมากขึ้น ทำให้การตัดสินใจในชีวิตที่ทำงานดีขึ้น ยังช่วยให้มีการแก้ปัญหาแบบสร้างสรรค์มากขึ้น ผลดีที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ 
  • ความคิดเราจะกว้างขึ้น
  • โฟกัสมากขึ้น
  • มีความกล้าหาญและอดทนต่อเสียงวิจารณ์ตอนที่เราเริ่มทำสิ่งใหม่ใหม่
บริษัทกูเกิ้ลได้นำสมาธิมาใช้ในการพัฒนาคน โดยใช้โปรแกรมที่ชื่อ Search Inside Yourself  โดยโปรแกรมนี้จะช่วยเพิ่มอีคิว ทำให้คนเข้าใจว่าเพื่อนร่วมงานทำสิ่งนี้เพราะอะไร ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงน้อยลง เกิดผลดีต่อที่ทำงานแน่นอน