วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

Sinovac [2021] เรื่องเล่าประสบการณ์ได้รับวัคซีนซิโนแวคในฐานะบุคลากรทางการแพทย์

 Covid-19

ในฐานะที่ตัวผมเองเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ทีทำงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ไม่ได้ทำงานสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ก็จะมาขอเขียนเล่าประสบการณ์และความรู้สึก ว่าทำไมจึงขอรับการฉีดวัคซิโนแวค (Sinovac) ซึ่งตอนนั้นท่องไว้ว่า วัคซีนตัวนี้ "กันตาย กันป่วย ไม่กันติด" คือฉีดแล้วก็ยังติดเชื้อได้เหมือนเดิม แต่ลดโอกาสที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และลดโอกาสการตายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ผมได้รับวัคซีนเข็มแรกวันที่ 22 เมษายน 2564 โรงพยาบาลปัตตานี แต่ก่อนหน้าที่จะได้รับนั้น ก็มีกระแสมากมายเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน ประสิทธิภาพ และการเมืองเรื่องวัคซีน ว่าฉีดแล้วจะตายไหม ฉีดแล้วยังติดเชื้อได้เหมือนเดิมจะฉีดไปทำไม ทำไมไม่รอฉีดตัวที่ดีกว่าไปเลย อย่างไฟเซอร์ โมเดอร์นา เป็นต้น แต่พิจารณาดูแล้วหากต้องรอรับวัคซีนตามระบบปกติ ที่ไม่ต้องไปฉีดที่โรงพยาบาลเอกชน(ที่ไม่รู้ว่าจะได้รับอนุมัติให้ฉีดเองได้เมื่อไหร่นั้น) ก็ต้องใช้ระยะเวลานาน 

แถมตอนนั้น โควิดเริ่มระบาดอย่างหนัก จังหวัดปัตตานีมีคลัสเตอร์ใหญ่อย่างร้านเหล้าแห่งหนึ่ง ซึ่งมีคนติดจำนวนมาก และคนที่ติดเริ่มใกล้ตัวเข้ามาอย่างช่วยไม่ได้ ต่างจากรอบแรกที่คนติดโควิดมักจะเป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลย์เซียเป็นส่วนใหญ่ แต่รอบนี้คนติดโควิดคือเริ่มเป็นคนที่อาศัยในตัวเมือง คนที่เดินตลาด คนที่ไปใช้บริการร้านกาแฟ คาเฟ่ต่าง ๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มเสี่ยงขึ้นมาเรื่อย ๆ ความเป็นเจ้าหน้าที่ที่ค่อนข้างจะได้รับการฟอร์ซจากระบบว่าต้องฉีดวัคซีน ที่สำคัญต้องย้ำว่า การฉีดดีกว่าไม่ฉีด และไม่มีวัคซีนให้เลือก จึงตัดสินใจรับการฉีด พร้อมภาวนาว่า คนที่ฉีดวัคซีนแล้วอัมพฤกษ์อัมพาตต้องไม่ใช่ตัวเรา

สิ่งที่มั่นใจก่อนฉีดอีกอย่างหนึ่งคือ สถานที่ฉีดอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไประดับจังหวัด ส่วนตัวคิดว่าในสถานการณ์ที่แย่ที่สุด จนท.คงเข็นเราเข้าห้องฉุกเฉินทันที ช่วยชีวิตทันแน่นอน แต่ถ้าไม่เป็นไรก็ดีที่สุดอยู่แล้ว

หลังจากฉีด ขณะที่นั่งรอพักสังเกตุอาการครึ่งชั่วโมงบนเก้าอี้พลาสติกสีแดง ผ่านไปประมาณ 5-10 นาที อาการข้างเคียงก็เริ่มมา รู้สึกชาครึ่งซีกบริเวณศีรษะ เหมือนเรานั่งนาน ๆ แล้วเหน็บกิน แต่คราวนี้เป็นที่ศรีษะและเป็นครึ่งซีกซ้าย (ผมฉีดวัคซีนแขนขวา) จากตอนแรกที่คิดว่าอาจจะอากาศร้อน หรือไม่ก็ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์เยอะเกินไปเลยรู้สึกเวียนศีรษะ จึงลองพยายามเปลี่ยนอิริยาบถบนเก้าอี้แคบ ๆ ตัวนั้น แต่ก็ไม่ได้ผล อาการชามีมากขึ้นเรื่อย ๆ จากที่ชาเฉพาะศีรษะ เริ่มชาลงเขียนซ้าย แต่ยังยกแขนอะไรได้ตามปกติ แค่รู้สึกชาที่แขน ตอนนั้นก็ยังใจเย็น เพราะคิดว่ามีแค่อาการชา แต่ยังขยับแขนขาคอลำตัวได้ตามปกติ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็พอได้รับข้อมูลมาว่าอาการข้างเคียงของวัคซีนแบบนี้มักจะเกิดขึ้นชั่วขณะ ... เดี๋ยวก็หายไป แล้วตอนนั้นก็ภาวนาว่าขอให้หายไปเร็ว ๆ กลัวเหมือนกัน

เหมือนคำภาวนาจะได้ผล อาการชามีแค่ศรีษะด้านซ้ายและแขนซ้ายเท่านั้น ไม่ได้มีอาการลามไปบริเวณอื่น เดินเหินได้ตามปกติ แต่เหาะเหินไม่ได้ จนครบเวลานั่งรอสามสิบนาที ก็ได้คุยกับเภสัชกรโรงพยาบาลปัตตานีที่ได้ให้คำปรึกษาที่ดี ให้กลับมาสังเกตอาการที่บ้าน อาการชาน่าจะหายเป็นปกติภายในวันนี้ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น นอนตื่นมาก็หายเป็นปกติเหมือนไม่เคยเป็นมาก่อน  หลังจากนั้น ก็ได้มีแพทย์หรือหน่วยงานได้ออกมาให้ความรู้เรื่องอาการคล้ายอัมพฤกษ์ของวัคซีนซิโนแวค มีผลมาจากการเกิดเส้นเลือดสมองหดตัวชั่วขณะ ถ้าหดตัวนาน ๆ ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อสมองตายได้ เอ่อ ... เพราะฉะนั้นเห็นความสำคัญของการนั่งพักรอ 30 นาทีเพื่อรอดูอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนกันนะครับ

ภาพข้อความนี้คัดลอกมาจากข่าวของสำนักข่าว The Standard วันที่ 23 เมษายน 2564 "อาการ ‘คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง’ หลังฉีดวัคซีน Sinovac กับข้อสรุปที่ยังคลุมเครือ" (คลิก) ซึ่งนำความเห็นของ ศ.นพ.ธีระวัตน์ เหมะจุฑามาทำข่าวอีกที ว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุอะไร ... ลองอ่านกันดูครับ ผมลองตามข่าวดูหลังจากนั้น พบว่าทางกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ออกมาให้ข่าวเรื่องการปนเปื้อนของตัววัคซีนแต่อย่างใด


ผ่านไปแล้วสำหรับการฉีดโดสแรก ระหว่างรอฉีดโดสที่สองวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 นั้น ก็มีข่าวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนถึงแก่ชีวิตอยู่เรื่อย ๆ มีทั้งข่าวจริงข่าวปลอม คนรอฉีดโดสที่สองอย่างเราก็เสพข่าวกันไปอย่างพยายามมีสติ จนกระทั่งช่วงนั้นมีคำแนะนำออกมาเรื่องการเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิดต้องทำอย่างไรบ้าง 

การเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนซิโนแวค

ตัวอย่างภาพที่ยกมาจะเป็นของโรงพยาบาลพระรามเก้า โดยหลัก ๆ ผมก็จะพยายามเตรียมตัวไปตามนี้เพราะกลัวผลข้างเคียงรุนแรง ไม่อยากเป็นอัมพฤกษ์ชั่วคราว คือ

  1. นอนให้เพียงพอ โดยวันก่อนฉีดเป็นวันอาทิตย์ก็ขอตัวนอนตั้งแต่สองทุ่ม ถึงแม้ตื่นกลางดึกก็ข่มตานอนต่อไป ตื่นเช้ามาวันจันทร์แวะไปเอาเอกสารที่ทำงาน ก่อนขอให้พี่พี่ที่ทำงานอวยพรให้รอดปลอดภัยกลับมา /สาธุ
  2. ดื่มน้ำเยอะ ๆ เรียกว่านึกได้ก็ยกขวดซดกันเลย ส่วนของต้องเลี่ยงอย่างชากาแฟ ผมกินแก้วแรกตอนเช้าวันอาทิตย์ จากนั้นก็งดจนถึงเวลาฉีดก็นับได้ครบประมาณ 24 ชั่วโมง ซึ่งหากคำนวณตามข้อมูลค่าครึ่งชีวิตของกาแฟจะอยู่ที่ประมาณ 6 ชั่วโมง ก็คิดว่าร่างกายน่าจะกำจัดกาแฟที่ได้รับมาเมื่อวานออกเกือบหมดแล้วตอนฉีดวัคซีน ฉีดวัคซีนเสร็จแล้วก็งดต่ออีกหนึ่งวัน ปลอดภัย
  3. ฉีดแขนข้างที่ไม่ถนัด รอบแรกผมฉีดแขนข้างขวา แต่แขนข้างขวาดันปกติดีทุกอย่าง ไม่ปวดไม่เมื่อย ดันไปออกอาการที่แขนข้างซ้ายแทน อย่างไรก็ตามฉีดวัคซีนเข็มสองผมให้ฉีดแขนซ้าย และก็เกิดอาการข้างเคียงขึ้นตามนั้นจริง ๆ คือมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อแขนซ้าย 
สรุปอาการข้างเคียงจากเข็มสอง ฉีดยาแล้วปวดกล้ามเนื้อแขนข้างที่ฉีด และมีอาการมึนศีรษะ คิดได้ช้าลง อันนี้ก็อันตรายต่อการขับรถ หรืองานที่ต้องใช้ความถูกต้องแม่นยำสูง แนะนำว่าหากมาฉีดวัคซีนควรพาผู้ติดตามมาสักคนที่สามารถจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ อย่างน้อยก็เป็นคนที่พาเรากลับบ้านได้ครับ

ผลข้างเคียงจากการฉีดเข็มสองน้อยกว่าเข็มแรก ไม่มีอาการชาครึ่งซีกให้สวดมนต์ในใจอย่างรอบแรก เพราะอาการมึนศีรษะ กับปวดเมื่อยแขนข้างที่ฉีดเป็นอาการข้างเคียงของวัคซีนที่พบได้ทั่วไป จึงไม่ตกใจเท่าไหร่ ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากฉีดครบสองเข็มแล้ว ผู้ฉีดจะได้วัคซีนพาสปอร์ต ที่ประเทศปลายทางที่รับนักท่องเที่ยวที่ฉีดซิโนแวคตอนนี้คือ จีน เท่านั้นและเท่านั้น One and Only ล่าสุดประเทศญี่ปุ่นสั่งห้ามคนไทยเข้า ส่วนยุโรปประกาศว่ารับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรองเท่านั้น ซึ่งซิโนแวคยังไม่ได้รับการรับรอง ...

แต่ ... อย่าเสียใจไปครับ เพราะเป้าหมายการฉีดวัคซีนตอนนี้คือ กันตาย ไว้ก่อน เรื่องเที่ยวเดี๋ยวรอวัคซีนดีดีมาแล้วเราค่อยไปฉีดกันครับ 


ถ้าถามว่า ฉีดซิโนแวคแล้วประสิทธิภาพเป็นเท่าไหร่ กันตายได้กี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้มีการจัดประชุมออนไลน์นัดพิเศษ Extraordinary meeting of the Strategic Advisory Group of Experts on Immunization (SAGE) ซึ่งหนึ่งในเอกสารเผยแพร่นั้นก็จะมีการสรุปประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคด้วยหลักฐานทางวิชาการ ซึ่งผมขอไม่พูดเรื่องหลักการและเหตุผลไปเลยแล้วกันนะครับ อ่านเองยังปวดหัว ถ้าจะให้พิมพ์อธิบายก็คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งเอกสารเผยแพร่นั้นได้สรุปประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค หลังฉีดเข็มสองไปแล้ว 14 วัน ไว้ดังนี้ 
    1. ป้องกันการเกิดอาการของโรค ร้อยละ 67 
    2. ป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ร้อยละ 85 
    3. ป้องกันการเข้าไปนอนไอซียู ร้อยละ 89 
    4. ป้องกันการตายได้ร้อยละ 80 


เอาเป็นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้ ฉีดครบสองเข็มแล้ว และต้องผ่านไป 14 วันด้วยนะ ก็ยังมีโอกาสเข้าไปนอนโรงพยาบาล นอนไอซียู และตายได้ ถึงแม้เปอร์เซ็นต์จะน้อยลงก็ตาม เพราะฉะนั้น ฉีดวัคซีนตัวนี้แล้วก็ยังต้องปฏิบัติตัวเหมือนยังไม่ได้รับวัคซีน เพราะอย่าลืมว่าซิโนแวคไม่ได้ป้องกันการแพร่เชื้อของโควิด นั่นคือ ต่อให้เรามีภูมิคุ้มกันแล้ว เราก็ยังสามารถพาเชื้อไปติดคนที่ยังไม่ฉีดได้นะครับ มาตรการ DMHTT ยังสำคัญกับสังคมไทยตอนนี้จนกว่าคนไทยจะได้รับวัคซีนเป็นจำนวนที่มากพอจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) คือประมาณร้อยละ 70 ของคนไทยตามที่กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูล

ซึ่งวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ข้อมูลว่า วันที่24 พฤษภาคม 2564 กระทรวงฯ ได้ฉีดวัคซีนเข็มสองครบแล้ว 980,190 คน ซึ่งเป้าหมายของประเทศจะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้ ร้อยละ 70 ของประชากร ตัวเลขจากเอกสารของกรมควบคุมโรค "การประชุมชี้แจงการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิดสำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไป" (คลิก) เป้าหมายอยู่ที่ 50,456,732 คน เท่ากับว่าตอนนี้ฉีดได้ 1.92 เปอเซ็นต์ของกลุ่มเป้าหมาย อืม หนทางยังอีกยาวไกล 

Sinovac, Astrazaneca

คำถามถัดไปที่สำคัญกับคนที่ฉีดวัคซีนทุกคน คือ หลังจากที่เรารอดจากผลข้างเคียงมาแล้ว ฉีดวัคซีนครบแล้ว  ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะอยู่กับเรากี่วัน ตอนนี้จากข้อมูลเท่าที่มี ภูมิคุ้มกันที่ได้รับการกระตุ้นจากวัคซีนจะอยู่กับเราไปประมาณ 6 เดือน ซึ่งผมฉีดเข็มที่สองเดือนพฤษภาคม หมายความว่า ไม่เกินเดือนพฤศจิกายน ผมควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกครั้ง ยกเว้นหากมีข้อมูลว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานกว่านั้น ก็ค่อยติดตามกันต่อไป

สุดท้ายนี้เป็นกำลังใจให้กับคนอ่านและครอบครัว ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยดีครับ ไม่มีคำแนะนำใดให้กับทุกท่าน นอกจากคำว่า "ต้องรอด" ไปให้ได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: