วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2562

มลายูที่รู้สึก | ความรู้สึกและข้อคิดเห็นของ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ


บ่ายนี้หลังจากไปกินก๋วยเตี๋ยวเป็ดปากน้ำสองถ้วย ก็กลับมานั่งอ่านหนังสือต่อ  ผมซื้อมาจากร้าน Anatomy มาเก็บไว้ประมาณเกือบเดือนแล้ว แต่มีเหตุให้อ่านด้วยเรื่องของผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลาที่ยิงตัวเอง คณากร เพียรชนะ จากมูลเหตว่าถูกแทรกแซงในการปฏิบัติงานถูกบังคับให้ตัดสินประหารชีวิตและจำคุกประชาชนตลอดชีวิตทั้งที่หลักฐานไม่เพียงพอ 

นานเท่าไหร่แล้วที่รัฐแทรกแซงการทำงานต่อหน่วยงานตุลาการที่ดูจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของชาวบ้าน มีกี่คนที่ถูกพิพากษาทั้งที่ไม่มีความผิด อ่านแล้วก็รู้สึกสะท้อนใจว่า ทำไมคนเราถึงมองคนที่อยู่ในประเทศเดียวกันว่าไม่ใช่คนเหมือนกัน ไม่ใช่พวกเดียวกัน ไม่ใช่คนเหมือนเรา เพียงเพราะต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม ทั้งที่ความจริงแล้วเราก็คือมนุษย์ด้วยกันทั้งหมด

มลายูที่รู้สึก แบ่งออกเป็นสองตอนหลัก ได้แก่ ตอนแรก "มลายูที่รู้สึก" พาเราไปรู้จักกับเมืองปัตตานี กำปงหมู่บ้านชายทะเล วัฒนธรรมการอาศัยอยู่ในพื้นที่ อาชีพ การทำงาน ความผูกพัน การออกหาปลาของชาวเล การต้องออกไปทำงานต่างถิ่น การดิ้นรนเพื่อปากท้องของชาวเลในยามมรสุม รวมถึงการจัดการปัญหาต่าง ๆ ในชุมชน

ตอนที่สอง คือ "มานุษยวิทยามลายู" พาเราไปรู้จักปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ผ่านมุมมองของคนเขียนที่เป็นนักมานุษยวิทยา ที่ต้องลงไปทำวิจัยคลุกคลีกับชาวบ้านเป็นเดือนเดือน จนผูกสัมพันกับชาวบ้าน ตั้งคำถามกับคนอ่านว่า ประชาชนอยู่ตรงไหนของสันติภาพ ปัญหาในอดีตของปาตานี บาดแผล ความเกลียดชัง และการนำเสนอข่าวเพียงด้านเดียว ที่สร้างภาพผู้ร้ายให้กับคนในพื้นที่

บางส่วนของหนังสือเล่มนี้ คุณจุ้ย ผู้เขียนดูจะอุทิศให้กับวัฒนธรรมโรตี ที่ดูจะเป็นความชอบและอาหารที่ลื่นไหลไปกับมนุษย์ รวมถึงโรตีในสามจังหวัดภาคใต้อีกด้วย อ่านแล้วก็รู้ว่าก่อนนี้โรตีมีประวัติความเป็นมาและการแบ่งชนชั้นด้วยเหมือนกัน

ตอนท้าย คุณจุ้ยพูดถึง กรณีปัญหาคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย หมายถึงต่างชาติที่ยากจน เช่น อินเดีย แขกขายโรตี หรือแม้กระทั่งโรฮิงยา ที่ดูเหมือนจะเป็นพลเมืองชั้นสองที่คนไทยไม่ต้อนรับ กล่าวถึงปัญหาของคุณบิลลี่ที่หายตัวไปนานแล้ว จนกระทั่งพบหลักฐานไม่นานมานี้ ปัญหาความน่าสะพรึงกลัวของรัฐไทย ที่มีความเป็นไทยเต็มเปี่ยม ว่าจัดการกับคนที่ไม่ใช่ "ไทย" อย่างไร รวมไปถึงชาวเขา กะเหรี่ยง เผ่าต่าง ๆ ด้วย

สุดท้ายนี้ผู้อ่านพึงระลึกว่าหนังสือเป็นมุมงมองและความเห็นของผู้เขียน ไม่ใช่ข้อสรุป หรือความจริงที่เป็นกฎตายตัวแต่อย่างใด พึงระวังในการนำข้อมูลไปใช้ด้วย




ไม่มีความคิดเห็น: