วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Netflix: Rats (2016) การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับหนูจากเมืองใหญ่ทั่วโลก


Rats สารคดีเล่าการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ฟันแทะที่หลายคนเกลียดกลัว "หนู" เป็นที่ทราบกันดีว่าถิ่นกำเนิดของหนูอยู่แถวมองโกเลีย และเมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการ ออกเดินเรือ หนูก็เดินทางไปกับเราด้วย และแพร่กระจายไปทั่วโลก กล่าวได้ว่าที่ไหนมีมนุษย์ที่นั่นมีหนู

หนูเป็นสัตว์สังคมที่อยู่ร่วมกันเป็นฝูงและมีความฉลาดอย่างที่มนุษย์เราคาดไม่ถึง อีกทั้งเป็นพาหะนำโรคทีน่ากลัวหลายชนิด โดยเฉพาะที่รู้จักกันดีในไทยคือ โรคฉี่หนู ที่มักจะมาตอนน้ำท่วม ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

สารคดีพาเราไปชมดูการใช้ชีวิตของคนในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ว่าเขาปฏิบัติกับหนูอย่างไร
  • นิวยอร์ค: เมืองใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เมืองนี้จัดเป็นบุฟเฟต์ชั้นดีของหนู เพราะในกลางคืนที่ภัตตาคารร้านอาหารนำเศษอาหารใส่ถุงดำมากองไว้ข้างถนน เศษอาหารเหล่านี้คือสวรรค์ของหนูท่อในเมืองใหญ่นี้เอง
  • มุมไบ อินเดีย: มีการจ้างให้กำจัดหนู สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ ชาวเมืองกำจัดหนูด้วยมือเปล่าด้วยอุปกรณ์อย่างตาข่าย ทำให้คนเหล่านี้มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะโดนกัด 
  • กัมพูชา: ชาวนาวางกับดักหนูนาวันละประมาณ 250 อัน เพื่อนำหนูที่ดักได้ไปส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่ส่งต่อไปขายยังประเทศเวียดนามอีกต่อหนึ่ง ซึ่งที่นี่เขาเอาหนูนาทำอาหารเป็นกับแกล้มเหล้าเบียร์ตามภัตตาคารต่าง ๆ
  • เรดิง อังกฤษ: ที่เมืองแห่งนี้นักวิทยาศาสตร์พบการกลายพันธ์ของหนูที่ทนต่อยาเบื่อหนู ซึ่งมันต้องกินยาเบื่อหนูในขนาด 2,000 เท่าของหนูปกติถึงจะตาย
  • รัฐราชสถาน อินเดีย: คนที่นี่ใช้ชีวิตร่วมกับหนูใน ศาสนสถานของชาวฮินดู หนูเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของที่นี่ พวกเขาเชื่อว่า ครอบครัวของเขากลับชาติมาเกิดเป็นหนู เพราะฉะนั้นหนูจึงเป็นครอบครัวของเขา พวกเขารับประทานอาหาร นอนหลับ เล่น รวมถึงทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับหนู ที่นี่หนูปลอดภัยที่สุด
  • เชลต์นัม อังกฤษ: เมืองที่เต็มไปด้วยฟาร์มแห่งนี้ ใช้สุนัขพันธ์เทอเรียร์ในการจัดการหนู โดยพวกเขาใช้เครื่องมือพ่นควันลงไปในรูหนู ไล่หนูออกมาให้สุนัขจัดการ 
เราจะเห็นว่า แต่ละเมืองในโลกแห่งนี้มีวิธีการอยู่ร่วมกับหนูที่แตกต่างกัน แต่โดยส่วนมากแล้วพวกเราปฏิบัติต่อหนูเหล่านี้ในฐานะผู้นำพาโรคร้าย พาหะของโรคต่าง ๆ โดยหนูมักจะพาปรสิตต่าง ๆ ไปกับมันด้วยทุกที่ จากการทดลองนำหนูมาผ่าในห้องทดลอง พบว่าหนูเป็นพาหะของโรคหลายชนิด ทั้งพยาธิ ต่าง ๆ อีกด้วย 

ไม่แปลกใจเลย ที่ CDC หรือองค์การควบคุมโรคของสหรัฐ มีการเก็บตัวอย่างหนูไว้ตั้งแต่ปี 1933 (2016, Rats) พวกเขาเก็บตัวอย่างหนูพวกนี้ไว้เพื่อศึกษาพวกมัน เพราะในหลายปีที่ผ่านมาหนูมีการกลายพันธ์ให้ทนต่อสารเคมี และตอบสนองต่อมนุษย์ในทางที่พวกมันจะมีชีวิตรอดที่เพิ่มขึ้น

Ed Sheehan ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดหนู กล่าวว่า "ถ้ามนุษย์สูญพันธ์ หนูจะมาครองโลกเหล่านี้แทนมนุษย์'











ไม่มีความคิดเห็น: