Minimalism: A Documentary About the Important Things ช่วงก่อนหน้านี้สังคมไทยคงจะได้ยินกันอยู่บ่อยเกี่ยวกับเรื่องความมินิมอล ผมก็เช่นกัน มักได้ยินความมินิมิลในเรื่องต่าง ๆ เช่น การตกแต่งร้าน การแต่งตัว การออกแบบ เอาเป็นว่า ใดใดในโลกล้วนมินิมอล
ทว่าสารคดีเรื่องนี้นำเสนอความมินิมอลในมุมมองของไลฟ์สไตล์หรือการใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไป คือ การลดสิ่งที่ไม่จำเป็น ซึ่งสิ่งแรกที่คุณต้องลดคือ ความต้องการ
ในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายของเรา สิ่งที่เราต้องเจอทุกวันคือโฆษณาทางทีวี นิตยสาร หรือแม้กระทั่งคนรอบตัวคุณ ที่คอยบอกคุณว่า ชีวิตที่สมบูรณ์แบบคืออะไร ความร่ำรวย เงินทอง ตำแหน่งหน้าที่การงาน ฐานะทางสังคม หุ่นคุณต้องเป็นอย่างไร คุณต้องกรีดอายไลน์เนอร์แบบไหน คุณต้องมีรองเท้าคู่นี้ถึงจะมีความสุข บลา ๆ คุณต้องการในสิ่งที่คนอื่นบอก แต่ไม่ได้ต้องการในสิ่งที่คุณจำเป็นจริงจริง
ส่งผลให้คุณต้องไขว่คว้าหาสิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิตอยู่ตลอดเวลา เพราะการได้มาของมัน เป็นการได้มาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ไม่ใช่ความต้องการของเราเอง ทำให้เราเครียดกับมันตลอดเวลา ของแบบนี้ยิ่งเราซื้อมันมากเท่าไหร่ มันก็ไม่ช่วยเติมเต็มช่องว่างในใจของเราได้หรอก ยิ่งได้มาเรายิ่งต้องการมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ทั้งบ้าน รถ ตำแหน่ง หน้าที่การงาน เงินทอง เรียกได้ว่า "เราไม่เคยพอ"
คุณลองสังเกตดูว่า ตู้เสื้อผ้าใบใหญ่ของคุณ มีเสื้อผ้าที่คุณใส่จริง ๆ กี่ตัว ผมมีแค่ห้าหกตัวเท่านั้น นอกจากนั้นก็เป็นยูนิฟอร์มของที่ทำงาน บ่อยครั้งที่ผมซื้อเสื้อผ้ามาเพียงเพราะว่ามันคือรุ่นใหม่ที่ทุกคนต้องมี ผมจึงก็ต้องมี แต่หลังจากใส่แค่ครั้งสองครั้ง ผมก็ทิ้งมันไว้ในตู้เพียงเพราะว่าผมไม่ได้มีความสุขจริงจรงตอนที่ใส่มัน
การซื้อของมาโดยที่เราไม่ได้ชอบนั้นเกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะกับคนที่ตัวเองเป็นที่คาดหวังของสังคม (คุณอาจคิดไปเอง) คุณแม่ต้องซื้อของเล่นที่ดีที่สุดให้ลูกน้อย ผู้ชายต้องซื้อดอกไม้ช่อใหญ่ไปง้อผู้หญิง นักเขียนต้องมีหนังสือของนักเขียนดังทุกเล่มถึงแม้ว่าคุณจะไม่อ่านมันเลยก็ตาม
สิ่งเหล่านี้คือขยะที่เราไม่ต้องการ และยังเป็นภาระเมื่อเราซื้อมันมา ...
สารคดีเรื่องนี้บอกอะไรกับเรา บอกให้ลด "สิ่งที่ไม่จำเป็น" สำหรับชีวิตลง ซึ่งความหมายของมันกว้างมาก เพราะฉะนั้นคุณต้องตีโจทย์เองแล้วล่ะ ว่าอะไรที่จำเป็นและไม่จำเป็น ยิ่งคุณอยู่กับสามีภรรยา หรือครอบครัวใหญ่ ต้องช่วยกันคิดต้องช่วยกันแก้ว่าอะไรไม่จำเป็น เพราะหากคุณสามีเผลอไปทิ้งที่ปัดขนตาของภรรยา รับรองว่าคุณบ้านแตกแน่นอน
เคมเปญหนึ่งที่เคยเป็นไวรัลในโซเชียลคือ เคมเปญ 333 คือการที่คุณใช้เครื่องแต่งกายทั้งหมด 33 ชิ้นรวมทุกอย่างตั้งแต่เสื้อผ้ารองเท้ากระเป๋า นาฬิกา แหวน เพียงแค่จำนวน 33 ชิ้นเท่านั้น เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งผู้นำเคมเปญนี้ได้ทดลองแล้วปรากฎว่าไม่มีใครสนใจคุณด้วยซ้ำว่าคุณสวมเสื้อผ้าตัวเก่า
เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเราตกอยู่ในสังคมทุนนิยมอย่างเต็มรูปแบบ สิ่งหนึ่งที่เราเริ่มได้ยินบ่อยขึ้นคือคำว่า Fast Fashion คือการที่แบรนด์เสื้อผ้าผลิตเสื้อผ้าลอตใหม่ออกมาบ่อยมากขึ้น มีสินค้าใหม่มาวางหน้าร้านเกือบทุกอาทิตย์ แน่นอนว่าถ้าคุณไม่ทัน คุณจะตกเทรนด์
ราคาที่คุณจ่ายเพื่อตามให้ทันเทรนด์ของแฟชันในปัจจุบันมันสูงมาก ยิ่งกลุ่มสินค้าไฮเอนด์ ราคายิ่งสูง คุณยิ่งต้องจ่ายมากขึ้นเพื่อให้มีให้ทันกับกลุ่มเพื่อนของคุณ
ตัวอย่างที่เราเห็นง่าย ๆ คือ โทรศัพท์มือถือ ผมเองเป็นคนที่ใช้ไอโฟน ซึ่งสังเกตว่า มือถือรุ่นใหม่ล่าสุดที่คุณซื้อเมื่อปีที่แล้ว มาปีนี้มันกลายเป็นมือถือตกรุ่นเสียแล้ว ซึ่งใครก็ตามที่ติดกับดักความต้องการตรงนี้ ย่อมต้องซื้อรุ่นใหม่ทุกทุกปีซ้ำ ๆ กันเป็นวงจรแบบนี้เรื่อยไป ทุกอย่างคือความสิ้นเปลืองทั้งนั้น
ความต้องการที่มากมายเหล่านี้ ส่งผลอะไรกับมนุษย์เราบ้าง? ที่สำคัญเลยคือ ความเครียด คุณจะไม่เครียดได้อย่างไร ในเมื่อคุณต้องหาเงินมาซื้อของที่พร้อมจะตกยุคในอีกไม่เกินหนึ่งปีของโทรศัพท์มือถือ หรือพร้อมตกยุคในอีกไม่กี่เดือนสำหรับเสื้อผ้าแฟชัน
"ของมันต้องมี" สารคดีเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง วลีเด็ดของพี่สู่ขวัญ ที่ทำรายการในยูทูปแล้วเป็นกระแสฮิตอยู่ช่วงนึง (แน่นอนว่าหลังจากนั้นก็มีรายการแนวนี้ตามมาอีกมากมาย) ซึ่งประโยค "ของมันต้องมี" ไม่เท่ากับว่า "ของที่จำเป็นต้องมี" อย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ผมไม่ได้หวังว่าทุกคนต้องขายบ้าน ขายรถ ขายเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่ไม่จำเป็น แต่อยากให้ทุกครั้งที่คุณซื้อ หันมาลองพิจารณาซ้ำ ๆ หลาย ๆ รอบว่า สิ่งนี้จำเป็นกับชีวิตคุณหรือไม่ หรือถ้าหากได้มันมาแล้วมันจะเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตคุณอย่างไร
อย่าให้ของนอกกายเหล่านี้มาตัดสินความเป็นคนของคุณ แทนความสามารถที่คุณควรมี
ใครที่สนใจรายละเอียดของสารดีเรื่องนี้ เข้าไปชมที่ Netflix ได้เลยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น