วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561
The True Cost (2015) มูลค่าที่แท้จริงธุรกิจ Fast Fashion
The True Cost เป็นสารคดีที่จะพาผู้ชมอย่างเราไปสำรวจมูลค่าที่แท้จริงของวงการ Fast Fashion ที่เรียกมันว่าฟาสต์แฟชันเป็นเพราะความหมายตรงตัวของมันเลย คือแฟชันที่ออกมาอย่างรวดเร็ว จากเดิมในอดีต ที่จะมีแฟชันใหม่ ๆ ออกมาปีละ 3-4 ฤดูกาล แต่ในปัจจุบัน วงการแฟชันในโลกของเราได้มีการเปลี่ยนแปลงเทรนด์ในการทำธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยการผันตัวมาผลิตแฟชันออกมามากขึ้น โดยหลาย ๆ แบรนด์มีเสื้อผ้าแฟชันออกใหม่ทุกสัปดาห์
ย้ำว่าแบรนด์เหล่านี้จะมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าที่วางหน้าช็อปไปเรื่อย ๆ ทุกสัปดาห์ เป็นที่สังเกตอีกอย่าง คือ แบรนด์เหล่านี้จะผลิตสินค้าราคาถูกที่ทุกคนสามารถซื้อได้ง่าย และทิ้งได้ง่าย ตัวอย่าง เช่น H&M, Zara, Peacocks, Primark หรือแม้กระทั่ง Uniqlo เพียงคุณมีเงินร้อยสองบาทก็สามารถซื้อได้ ยิ่งในประเทศโลกที่หนึ่งอย่างอเมริกาหรือยุโรปที่ค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าบ้านเรา เสื้อผ้าราคาไม่เกิน 10 เหรียญดอลลาร์สหรัฐนับว่าถูกมาก เพราะฉะนั้นไม่แปลกใจเลย ที่วันนี้คุณซื้อแต่พรุ่งนี้คุณทิ้ง เพียงเพราะเหตุผลไว่าคุณไม่ถูกใจ หรือซื้อมาก่อนเพราะลดราคา
ต้นทุนเสื้อผ้าราคาถูกเหล่านี้อยู่ที่ไหน อันดับแรกที่สารคดีเรื่องนี้พาเราไปดูคือ บังกลาเทศ ประเทศที่มีแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำส่วนใหญ่ตั้งฐานการผลิตอยู่ที่นี่ เพราะมีแรงงานทาสและค่าแรงถูก ประชาชนไม่มีทางเลือก ต่อให้คุณไม่ทำงานในโรงงานทาสเหล่านี้คุณต้องทำงานที่แย่กว่านี้อยู่ดี
ต่อให้คุณทำงานทั้งวัน ค่าแรงไม่มีทางสูงกว่า 100 บาทต่อวัน ทั้งนี้ล้วนเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจของที่นี่ที่ต่อให้ถูกกดราคาแค่ไหนก็ต้องรับ เพราะถ้าโรงงานคุณไม่รับ ก็จะมีโรงงานอื่นแย่งไปทำอยู่ดี ฉะนั้นการกดราคาทั้งหมดจากห่วงโซ่วงการแฟชันย่อมตกอยู่กับแรงงานทาสเหล่านี้
นอกจากบังกลาเทศ ยังมีประเทศอินเดีย กัมพูชา อีกหลายประเทศที่ยังมีแรงงานทาสในวงการแฟชัน
นอกจากต้นทุนที่มาจากแรงงานทาสแล้ว ยังมีต้นทุนจากสิ่งแวดล้อม เพราะว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอเหล่านี้ล้วนใช้สารเคมีในการผลิต ทั้งการปลูกคอตตอน การฟอกหนัง ทุกอย่างเหล่านี้ล้วนใช้สารเคมี ซึ่งคนที่รับเคราะห์ล้วนเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ทั้งนั้น มีรายงานว่าในหมู่บ้านที่มีโรงงานฟอกหนังอยู่ เด็กมีโอกาสที่จะคลอดออกมาปัญญาอ่อน หรือมีความผิดปกติทางร่างกายสูงกว่าที่อื่น ๆ เพียงเพราะพวกเขาได้รับสารเคมีอันตรายเหล่านี้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แน่นอนว่าบริษัทแฟชันเหล่านี้ไม่ได้เคลมว่าผลเสียที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของพวกเขาที่ต้องรับผิดชอบ
บริษัทแฟชันเหล่านี้มีหน้าที่ผลิตออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อทำกำไรให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้น ไม่ได้สนใจแรงงานทาสในประเทศโลกที่สามซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อม หรือผลเสียที่เกิดขึ้นกับชุมชนใดใด พวกเขาสนใจแค่ผลกำไร
ผมหวังว่าคนที่ดูสารคดีเรื่องนี้จบแล้ว ไม่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงทันทีทันใด แต่ต้องตั้งคำถามได้ว่า เสื้อผ้าเหล่านี้มาจากไหน มาจากแรงงานทาสในบังกลาเทศหรือไม่ แค่นั้นเอง
ในสารคดีเรื่องนี้ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกมากเช่น การใช้สารเคมีในการปลูก การฆ่าตัวตายของเกษตรกรชาวอินเดีย โศกนาฎกรรมตึกถล่มในบังกลาเทศ หรือแม้กระทั่งการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานในกัมพูชา ทั้งนี้ล้วนเป็นผลมาจากธุรกิจ Fast Fashion ทั้งนั้น
คุณสามารถดูสารคดีเรื่องนี้ได้ที่ เน็ตฟลิกซ์ หรือเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ truecostmovie.com
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น