วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563

ทบทวน | ทุกวันนี้คุณมีค่าใช้จ่ายประจำเท่าไหร่กันบ้าง

how much is the monthly expense

เชื่อว่าทุกคนมีค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายกันทุกเดือน/ทุกปี เป็นประจำกันแน่นอน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อความสะดวกสบาย และตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวัน ผมเองก็เช่นกันครับ ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเหล่านี้จำนวนต่อเดือนต้องบอกว่ามากพอสมควร ซึ่งปกติก็สั่งสมเพิ่มเข้ามาทีละอย่างสองอย่าง จนทุกวันนี้ต้องคิดแล้วครับ ว่าเราจ่ายอะไรไปบ้าง ซึ่งผมจะขอพูดในหมวดของความบันเทิงก่อนแล้วกันนะครับ ว่าทำไมต้องจ่ายและคุ้มค่าหรือไม่

  • เน็ตบ้าน 3BB เดือนละ 631.30 บาท ตอนนี้จ่ายเต็มคนเดียวทุกเดือน ต้องบอกว่าใช้คุ้มมากครับ เพราะชีวิตนอกจากทำงานแล้วก็อยู่ห้องเป็นหลัก และตัวเองมีแมค มีไอแพด มีทีวี ซึ่งอุปกร์ทุกอย่างนี้ใช้เน็ตหมดเลย ก็ใช้อุปกรณ์พวกนี้เสพความบันเทิงครับ
  • โปรรายเดือนโทรศัพท์มือถือ Truemove เดือนละ 1,099 ไม่รวมภาษี (ถ้ารวมแวทก็จะเป็น 1,175 บาท) เป็นแพคเกจ 4G+ฟัน อันลิมิเต็ด โทรได้ 650 นาที ส่วนเกินนาทีละ 1.50 บาท อินเตอร์เน็ตใช้ได้ไม่อั้นที่ความเร็วสูงสุด 300 Mbps มาพร้อมกับแพคเสริม คือเล่นยูทูป ไลน์ทีวี ได้ไม่จำกัดความบันเทิง ซึ่งตอนนี้ประเมินความคุ้มค่าแล้ว คิดว่าอาจจะต้องเปลี่ยนโปรมาเน้นเน็ตไม่เน้นโทรแทน เพราะว่าทุกวันนี้สถานที่ที่ไปส่วนใหญ่ก็มีไวไฟหมดแล้วครับ
  • โปรรายเดือนโทรศัพท์มือถือ AIS มีสองเครื่อง คือของป้า เดือนละ 373.43 บาท ซึ่งตอนนี้กำลังเปลี่ยนโปรไปใช้โปรที่เล่นเน็ตได้มากขึ้น เพราะที่บ้านไม่ได้ต่อเน็ตบ้าน เวลาดูคลิปในมือถือในยูทูปก็จะกินเน็ตค่อนข้างมาก เครื่องที่สองคือเครื่องสำรองของผมเอง เดือนละ 300 บาท เหตุผลที่มีคือซื้อมาเสริมดวง (ฮา)
  • แอพฟังเพลงอันดับหนึ่งในดวงใจ Spotify จ่ายเดือนละ 199 บาท แบบมีสมาชิกมาหารกันได้ 6 คน ตกเดือนละ 33.17 บาท คุ้มค่ามาก
  • แอพดูหนังที่ใช้เวลาเลือกหนังมากกว่าเวลาดูจริง Netflix รายเดือนเดือนละ 240 บาท ดูได้สี่จอพร้อมกัน เลยมีสมาชิกมาหารกัน 4 คนตกคนละ 105 บาท ตีว่าคุ้มค่าอีกแล้วครับ 
  • แอพดูรายการออนไลน์เรื่อยเปื่อย ดูหนัง ฟังเพลง ดูรายการ ข่าว ดารา ศิลปิน มีหมดกับแอพนี้ Youtube เดือนละ 239 บาท หารกันหกคน ตกคนละ 40 บาทก็คุ้มค่าอีกแล้ว แนะนำให้ทุกคนยอมจ่ายกับแอพนี้เลยครับ ส่วนตัวมองว่าคุ้มกว่าเน็ตฟลิกซ์อีกครับ ที่สำคัญยังได้ใช้งาน Youtube Music แบบพรีเมียมได้ด้วยครับ
  • Icloud บริการเก็บข้อมูลออนไลน์จากแอปเปิล ไม่แน่ใจแล้วว่าทำไมต้องซื้อ แต่คิดว่าน่าจะเพราะปริมาณรูปที่อยุ่บนคลาวน์เยอะกว่าความจุที่รับได้ จากนั้นไอโฟนก็เตือนรัวรัวว่าความจุไม่พอ ก็เลยทำการซื้อไปให้จบจบ ที่ความจุ 200 GB จ่ายเดือนละ 99 บาท อันนี้เหมือนบังคับซื้อมากกว่าครับ
  • Google Drive บริการเก็บข้อมูลรูปภาพออนไลน์จากกูเกิ้ลอีกแล้วครับ พื้นที่ความจุ 100 GB เดือนละ 70 บาท ซึ่งสามารถกูเกิ้ลไดร์ฟจะเก็บข้อมูลจากอีเมลล์ กูเกิ้ลโฟโต้ ซึ่งอย่างหลังเนี่ยกินความจุเยอะมากครับ แต่ผมมองว่ากูเกิ้ลโฟโต้สะดวกสำหรับการแชร์รูปมากกว่า Icloud หรือ One Drive ก็เลยซื้อครับ
จะเห็นว่าแค่ความบันเทิงหรือความสะดวกในการใช้ชีวิตก็มีหลายแอพให้เลือกแล้วครับ พอคิดรวมรายจ่ายในหมวดนี้ทั้งหมดตกเดือนละ 2,826.90 บาท เอ่อ ช็อกไปเลย เพิ่งรู้ตอนเขียนบทความนี้เหมือนกันครับ ต่อไปก็จะมาพูดถึงค่าใช้จ่ายที่ยอมจ่ายเพื่องานนะครับ อันที่จริงไม่ได้จำเป็นเลย แค่มันสะดวกกว่าตอนไม่มีเท่านั้นเองครับ

  • One Drive จากไมโครซอฟต์ แอพนี้พิเศษและสะดวกสำหรับการทำงานมากครับ เพราะการที่เราใช้บริการ One Drive แบบพรีเมียม ปีละ 2099 บาท จะทำให้เราสามารถแชร์ไฟล์ทำงานที่ไหนก็ได้ เพียงแค่เราดาวน์โหลดแอพเขามา อีกอย่างยังสามารถสำรองไฟล์ไปยังคอมเครื่องต่าง ๆ ได้ถึง 5 เครื่อง สะดวกมาก เวลาจัดการไฟล์งานก็จะเน้นใช้แอพนี้ครับ โดยส่วนตัวผมจะมีคอมสำนักงาน 1 ตัว มีแมคบุ๊ค 1 ตัว มีไอแพด 1 เครื่อง และมีไอโฟนอีกหนึ่ง ซึ่งทุกอุปกรณ์สามารถเรียกไฟล์งานมาดูได้หมดเลยครับ สะดวกมาก ไม่เหมือนกับการฝากไฟล์งานไว้ในเมลล์ ที่หายาก และไม่สามารถแก้ไขได้
  • Canva.com รายการนี้เพิ่งตัดบัตรไปเดือนที่แล้วเองครับ ที่เลือกใช้แอพนี้เพราะสามารถใช้งานได้หลายอย่าง ทั้งการนำเสนองานด้วยพาวเวอร์พอยต์ การทำโปสเตอร์ โปสการ์ด หรือแม้กระทั่งคลิปวิดีโอก็สามารถทำได้ดีเลยครับ สะดวกมากมาก จ่ายรายเดือนเป็น 12.95 ดอลลาร์ต่อเดือน เท่ากับเดือนละประมาณ 400 บาท โดยขณะที่เขียนบทความนี้ผมทำการยกเลิกสมาชิกแบบโปรแล้วครับ เดี๋ยวขอจะเปลี่ยนไปใช้งานในไอแพดดีกว่าครับ ค่าใช้จ่ายถูกกว่าด้วย
จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย ๆ เลยครับ รวมแล้วก็ตกต่อเดือน 574.92 บาท สำหรับส่วนของการทำงาน อาจจะต้องปรับลดคอสต์ตรงนี้ลงจะทำให้เราประหยัดได้มากขึ้น ส่วนค่าใช้จ่ายรายเดือนที่จะพูดถึงต่อไปนี้ จะเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการลงทุน ประกันชีวิต ต่าง ๆ ซึ่งผมจ่ายปีละประมาณ 50,000 ครับ แต่ละคนอาจจะลงมากน้อยต่างกัน จะขอยกตัวอย่างให้ดูครับ
  • ประกันชีวิตของกรุงไทย ไอ โพรเทค 10 เป็นประกันชีวิตจ่ายเบี้ยปีละ 15,384 บาท รายละเอียดจำไม่ได้แล้วครับ สงสัยต้องไปค้นหามาอ่านอีกครั้ง ส่วนการจ่ายเป็นการจ่ายสิบปี ผมจ่ายมาตั้งแต่ปี 2560 ปีนี้จ่ายเป็นปีที่สี่แล้วครับ เหลืออีกหกปี ตอนนั้นประเด็นหลัก ๆ คือ ลดหย่อนภาษีเป็นหลัก แต่ก็ต้องจ่ายมาเรื่อย ๆ ต้องบอกว่าหากวางแผนไม่ดี การจ่ายเงินก้อนต่อปีเป็นภาระพอควรเลยครับ เราควรหักเงินส่วนนี้ไว้ทุกปีเพื่อกันไว้จ่ายตอนครบรอบปีครับ
  • ประกันรถยนต์ อันนี้เดี๋ยวจะมาเขียนให้ฟังกันครับ ส่วนที่เพิ่งจ่ายไปสด ๆ ร้อน ๆ เพราะเพิ่งหมดไปตอนปลายเดือนสิงหา ปีนี้เลือกธนชาติประกันภัย จ่ายเบี้ยรวมผ่านเอเชียไอเร็คไป 17,615.41 บาท ยังไม่รวมต้องต่ออายุพรบ ตอนตุลาอีกครับ
  • RMF ซื้อกองทุนกองนี้ไว้สำหรับใช้ตอนเกษียณ โดยจ่ายเดือนละ 1,000 บาท หักผ่านบัตรเครดิตไปครับ ตอนนี้ขาดทุนยับเลย รวมถึงกอง LMF ที่ถูกปิดไปแล้วด้วยครับ 
พิมพ์มาถึงตรงนี้ก็เริ่มช็อกแล้วครับ ว่าทำไมรายจ่ายประจำเยอะมากขนาดนี้ และที่จะพูดถึงสุดท้ายนี้ก็จะเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตนะครับ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน จิปาถะมากมาก
  • ค่าน้ำ/ไฟ ตอนนี้ผมอยู่แฟลตสวัสดิการ เลยจ่ายค่าน้ำประมาณเดือนละ 70 บาท ไม่เกินนี้ ส่วนค่าไฟ ผมมีเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ/ตู้เย็น ค่าไฟปีนี้เลยพุ่งมาก กลายเป็นเดือนละประมาณ 800 บาทแล้ว ตั้งงบส่วนนี้ไว้เดือนละ 1,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับรถยนต์ ปกติจะมีค่าเข้าศูนย์ แต่ละรอบ รอบละ 2,000 กว่าบาท ค่าน้ำมันเดือนละประมาณ 2,000 บาท ค่าล้างรถเดือนละประมาณ 700 บาท ค่อนข้างเยอะโดยที่ผมไม่รู้ตัวเลยครับ ไม่รวมค่าใบสั่ง ค่าที่จอดรถ ต่าง ๆ ผมจึงตั้งงบให้กับรถยนต์เดือนละ 3,500 บาท
  • สำหรับผู้อ่านที่ต้องเช่าบ้าน เช่ารถ ก็จะมีค่าใช้จ่ายตรงนี้เพิ่มขึ้นมา
มาถึงตรงนี้ก็เหนื่อยแล้วครับ เพราะยังไม่รวมค่ากิน/เที่ยว ของใช้ชีวิตประจำวัน เสื้อผ้า สกินแคร์ ต่าง ๆ นา ๆ เอาเป็นว่าพอก่อนแล้วกันนะครับ เพราะมาถึงตอนนี้มีรายประจำที่ต้องกันไว้ รวมกันประมาณ 11,000 บาทที่ต้องเป็นค่าใช้จ่ายแน่นอนแล้วในแต่ละเดือน สมกับสำนวนหมื่นห้าค่าใช้จ่ายห้าหมื่นจริงจริงเลยครับ

เอาเป็นว่าตอนนี้หมดแรงพิมพ์แล้วครับ ไว้มาต่อกันใหม่ตอนหน้า สุดท้ายนี้ การทบทวนรายจ่ายทำให้เรารู้ว่าเราจ่ายเกินตัวจริงจริง ต้องหาวิธีลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: