หนังสือเรื่องแรกที่อ่านจบในปีนี้ คือ "เศรษฐศาสตร์ เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย" ที่คนเขียนเป็นชาวเกาหลี ชื่อ ปาร์คพยองนูล กับผู้แปล คือ ตรองสิริ ทองคำใส ผมบอกเลยว่า เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เป็นเนื้อหาทางเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายมาก ชอบตรงการยกตัวอย่างที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้บางสถานการณ์จะเป็นเหตุการณ์ในเกาหลี แต่ถ้าเราเปลี่ยนชื่อเมืองในหนังสือเป็นชื่อจังหวัดในไทย ก็ทำให้เราเข้าใจง่ายทันทีเลยครับ
หนังสือเล่มนี้ดียังไง ดีตรงที่ตอนนี้เรามักจะเสพข่าวเศรษฐกิจ หรือดูข่าวเศรษฐกิจในแต่ละวัน บางสื่อบอก GDP หดตัวเศรษฐกิจแย่ บางสื่อบอก GDP โตก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีเสมอไป ... อ้าว แล้วตกลงมันหมายความว่ายังไง
หนังสือเรื่องนี้มีทุกคำตอบเลยครับ
- ตั้งแต่การเล่าถึง GDP = รายจ่ายเพื่อบริโภค + รายจ่ายเพื่อการลงทุน + รายจ่ายของรัฐบาล + รายจ่ายสุทธิของต่างประเทศที่ซื้อสินค้าผลิตในประเทศ
- สมดุลระหว่างมนุษย์กับอาหาร
- มุมมองของความรักทางเศรษฐศาสตร์ ว่าทำไมรักแรกถึงฝังใจไม่ลืม
- การบริโภคเพื่อโอ้อวด เขาอธิบายด้วยว่าทำไมเวลา เพื่อนบ้านเราซื้อของแพง ๆ แล้วเราต้องอิจฉา ทั้งที่เงินก็เงินเขา เราไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรเลย
- Paradox of saving ความขัดแย้งของการออม ที่ผู้เขียนบอกว่า การออมไม่ได้ทำให้ประเทศดีขึ้นเสมอไป ผลร้ายของการออมก็มีอยู่เช่นกัน,
- บิ๊กแมคอินเด็กซ์ การเปรียบเทียบราคาสินค้าที่ขายดีในแต่ละประเทศ ประเทศไหนราคาสูงกว่าแสดงว่าค่าเงินแข็งกว่า แต่ทว่าก็จะมีหลายปัจจัยที่เข้ามารบกวน ทำให้พอจะยึดดัชนีนี้ได้คร่าว ๆ เท่านั้น
- ทฤษฎีเกม และเศรษฐศาตร์พฤติกรรม อันนี้ชอบมาก เพราะผู้เขียนยกตัวอย่างในแง่ของการเจรจาระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างสงครามระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย เล่าได้สนุกมาก
- ผู้เขียนอธิบายเรื่องอุปสงค์อุปทานกำหนดค่าเงินด้วย แต่เรื่องนี้อ่านแล้วยังงง ๆ อยู่ ถ้าอยากเข้าใจคงต้องอ่านซ้ำ
ระดับความน่าอ่าน : อ่านเถอะ ได้ประโยชน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น