วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2562

วังเจ้าเมืองพัทลุง | วังเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕ ประวัติศาสตร์ของเมืองพัทลุง


วันนี้หลังจากประชุมเสร็จสิ้นลงแล้ว เห็นว่าเป็นเวลาว่างเพราะจะกลับไปทำงานที่ปัตตานีก็คงไม่ทัน ดังนั้นจึงใช้จังหวะนี้ศึกษาประวัติศาสตร์ของพัทลุง บ้านเกิดเมืองนอน ด้วยการไปเยี่ยมชมวังเจ้าเมืองพัทลุง ที่ก่อสร้างตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่แม้ช่วงหนึ่งจะทรุดโทรมไปจนได้รับการบูรณะเมื่อไม่นานมานี้ แต่ตัวเรือนก็ยังคงมีเค้าโครงเดิมที่ยังคงงดงามอยู่

อย่างแรกที่สังเกตได้เมื่อขับรถผ่านหน้าวังเจ้าเมืองคือตัวกำแพงที่ก่อด้วยอิฐที่ต่างจากยุคปัจจุบัน ตัววังเก่าที่เป็นเรือนยกใต้ถุนสูงเหมือนบ้านเรือนสมัยก่อน ทำด้วยไม้ล้วน มีบางส่วนที่ทำจากปูนและกระเบื้องในยุคหลังที่ทำการบูรณะวังแล้ว มีเรือเก่าลำหนึ่งถูกวางอยู่ใต้ถุนเรือน

ส่วนวังเก่านั้นตอนแรกไม่รู้เลยว่ามีอยู่ แต่เห็นเมื่อเดินอ้อมไปทางด้านหลังวังใหม่ จะเห็นว่ารูปแบบการก่อสร้างแตกต่างจากวังใหม่ค่อนข้างมาก โดนประกอบด้วยปูนเป็นหลัก โดยผมชอบบรรยากาศของวังใหม่ที่อยู่ติดกับริมคลองมากกว่า โดยเฉพาะตรงศาลาริมน้ำนั้น เหมาะกับการนั่งพักอิริยาบทเป็นอย่างมาก

การบูรณะของกรมศิลปากร ข้อมูลจากป้ายดินเผา ตรงทางขึ้นวังเก่า มีข้อความว่า 
รัฐบาลและกรมศิลปากรได้ร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถาน "วังเจ้าเมืองพัทลุง" ระหว่างปีพุทธศักราช 2531 - 2536 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย 2 เมษายน 2536 และเพื่อธำรงรักษามรดกวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ยั่งยืนเป็นหลักฐานแสดงอารยธรรมของประเทศสืบไป โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2536
ประวัติของวังเก่า
วังเก่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งพระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย จันทโรจวงศ์) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพัทุลงระหว่างพุทธศักราช 2412 - 2431 สถานที่แห่งนี้จึงมีฐานะเป็นที่ว่าราชการเมืองพัทลุงเรื่อยมา จนกระทั่งพุทธศักราช 2431 พระยาอภัยบริรักษ์ กราบบังคมทูลลาออกจากราชการด้วยมีความชราภาพและดวงตามืดมัวเนื่องจากเป็นโรคต้อกระจก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาวรวุฒิไวยวัฒลุงควิสัยอิศรศักดิ์พิทักษ์ราชกิจนริศราชภักดีอภัยพริยพาหะ จางวางเมืองพัทลุง พระยาวรวุฒิไวยฯ ยังคงพำนักอยู่ ณ วังแห่งนี้ต่อมา จนถึงแก่อนิจกรรมในพุทธศักราช 2446 วังแห่งนี้จึงเป็นมรดกตกทอดไปยังหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) และทายาทตามลำดับ
วังเก่ามีลักษณะเป็นเรือนไทยแฝดสามหลัง ยกใต้ถุนสูง จั่วขวางตะวัน เรือนหลังที่ 1 และ 2 ทำเป็นห้องนอน ด้านหน้าห้องนอนสร้างเป็นห้องโถงติดกัน ถัดออกไปเป็นชานขนาดเล็กต่อไปยังเรือนครัววัสดุก่อสร้างเป็นไม้ทั้งหมด วิธีการประกอบเรือนใช้ ลูกสัก หรือลิ่มไม้เชื่อมยึดแทนประตู
หลังจากหมดยุคการปกครงด้วยระบบเจ้าเมืองแล้ว วังเก่าก็อยู่ในสภาพทรุดโทรม จนกระทั่งพุทธศักราช 2535 ทายาทของพระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย จันทโรจวงศ์) ซึ่งถือครองกรรมสิทธิ์วังเก่าและที่ดินได้แก่ นางประไพ มุตามระ นางสาวผอบ นะมาตร์ และนายธรรมนูญ จันทโรจวงศ์ ได้โอนกรรมสิทธิ์วังเก่าและที่ดินทั้งหมดให้แก่แผ่นดิน โดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ดูแล เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2535
ประวัติของวังใหม่
วังใหม่สร้างขึ้นภายหลังจากหลวงจักรานุชิต (เนตร จันทโรจวงศ์) บุตรชายของพระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย จันทโรจวงศ์) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าเมืองพัทลุงต่อจากบิดาซึ่ง โปรดฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นจางวางที่ปรึกษาราชการเมืองพัทลุงในพุทธศักราช 2431 ในครั้งนั้น จึงมีการสร้างวังใหม่ขึ้นทางด้านหลังวังเก่าทางด้านทิศใต้ติดกับคลองลำน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกวังใหม่นี้ว่า วังชายคลอง หรือ วังใหม่ชายคลอง แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมเรียกเท่าชื่อ วังใหม่
วังใหม่เป็นกลุ่มเรือนไทย 5 หลัง ยกพื้นสูงล้อมรอบชานซึ่งอยู่ตรงกลาง เรือนทั้ง 5 หลังนี้ประกอบด้วยเรือนประธานมีลักษณะเป็นเรือนแฝด ภายในมีห้องนอนหลายห้องใช้เป็นที่พักของเพราะยาอภัยบริรักษ์ (เนตร จันทโรจวงศ์) พร้อมภรรยาเอกและบุตร ด้านหน้าห้องนอนเป็นห้องโถงใช้สำหรับเป็นสถานที่สำหรับเจ้าเมืองว่าราชการ ส่วนเรือนไทยอีก 3 หลังเป็นเรือนขนาดเล็ก มีห้องนอนและระเบียงด้านหน้าเหมือนกันทุกหลัง ใช้เป็นที่อยู่ของอนุภรรยาและบุตรของเจ้าเมือง ส่วนเรือนหลังสุดท้ายนั้นเป็นเรือนครัว
ในปี 2526 ทายาทของพระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร จันทโรจวงศ์) นำโดยนายวิเวก จันทโรจวงศ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้มอบกรรมสิทธิ์วังใหม่พร้อมที่ดินให้แก่กรมศิลปากร โดยมีพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2526
รูปภาพวังเก่า



















รูปภาพวังใหม่
























ไม่มีความคิดเห็น: